หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระประพันธ์ กตคุโณ (สันทาลุนัย)
 
เข้าชม : ๑๙๙๗๓ ครั้ง
วิเคราะห์คติธรรมจากประเพณีการบำเพ็ญกุศลศพของชุมชนตำบลกลันทา อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์
ชื่อผู้วิจัย : พระประพันธ์ กตคุโณ (สันทาลุนัย) ข้อมูลวันที่ : ๐๒/๐๘/๒๐๑๗
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  -
  พีรพงษ์ มาลา
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๐ มีนาคม ๒๕๕๙
 
บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

 

การศึกษาวิจัย เรื่องวิเคราะห์คติธรรมจากประเพณีการบำเพ็ญกุศลศพของชุมชนตำบล   กลันทา อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ มีจุดประสงค์ ๓ ประการ คือ  ๑) เพื่อศึกษาการบำเพ็ญกุศลศพในคัมภีร์พระพุทธศาสนา  ๒) เพื่อศึกษาการบำเพ็ญกุศลศพของชุมชนตำบลกลันทา อำเภอเมืองบุรีรัมย์  จังหวัดบุรีรัมย์ และ  ๓) เพื่อศึกษาคติธรรมจากประเพณีงานบำเพ็ญกุศลศพของชุมชนตำบลกลันทา อำเภอเมืองบุรีรัมย์  จังหวัดบุรีรัมย์

ผลการวิจัยพบว่า  ความตาย คือกระบวนการจบของชีวิต การสิ้นใจ  การสิ้นสภาพของการมีชีวิต แนวคิดเรื่องความตายในทางพระพุทธศาสนาเถรวาทชี้ว่าความตายเป็นเรื่องปกติธรรมดาของชีวิต แต่สาระแห่งการตายสามารถนำมาสร้างสิ่งดีงาม นำมาเป็นเครื่องเตือนสติไม่ให้ประมาทมัวเมาในวัยในชีวิต เป็นอุปกรณ์ในการสอนธรรม พร้อมนำไปปฏิบัติจนบรรลุผลสำเร็จในการดำเนินชีวิตได้เป็นอย่างดี และสามารถทำให้บรรลุมรรคผลต่อไป   การสิ้นชีวิต มีเหตุที่ทำให้เกิดขึ้น ๔ ประการ คือ ๑) อายุกขยะมรณะ ได้แก่ ตายเพราะสิ้นอายุ  ๒) กัมมักขยะมรณะ ได้แก่ ตายเพราะสิ้นกรรม        ๓) อุภยักขยะมรณะ ได้แก่ ตายเพราะสิ้นทั้งอายุและกรรมทั้งสองพร้อมกัน  ๔) อุปัจเฉทกมรณะ ได้แก่ ตายเพราะกรรมเข้าไปตัดรอน สมัยพุทธกาลให้ความสำคัญในมีการจัดพิธีกรรมเกี่ยวกับการตายเฉพาะบุคคลสำคัญ ๆ เท่านั้น เช่น พระพุทธเจ้า พระพุทธบิดา และพระพุทธสาวกบางรูป ส่วนบุคคลทั่วไป พิธีกรรมด้านนี้มีการจัดการเกี่ยวกับศพอย่างเรียบง่ายโดยการเผา ฝัง การทิ้งศพตามป่าทิ้งเป็นอาหารของสัตว์ป่า และการนำศพลอยแม่น้ำ                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                      

ชุมชนตำบลกลันทาเป็นชุมชนชาวกวยหรือส่วย เขมร ลาว มีข้อปฏิบัติเมื่อมีคนป่วยใกล้ตาย ประเพณีการปฏิบัติต่อศพ ประเพณีการปฏิบัติในการสวดศพ ประเพณีการบวชหน้าศพและการจูงศพ ประเพณีการปฏิบัติในการเผาศพ และประเพณีการเก็บอัฐิและทำบุญอุทิศให้แก่ผู้ตาย เป็นลักษณะเฉพาะของชุมชนของตนเองปัจจุบันประเพณีการจัดงานบำเพ็ญกุศลศพของชุมชนมีการเปลี่ยนแปลงไปตามสมัยนิยม เช่นในสมัยดั้งเดิมนั้นมักนิยมฝังศพไว้ก่อน แต่ปัจจุบันเมื่อตายแล้วมักนิยมทำบุญฌาปนกิจคือเผาให้แล้วเสร็จ ซึ่งแต่ละชุมชนก็จัดงานศพตามฐานะของเจ้าภาพ แต่ในขั้นตอนพิธีการต่างๆ ชุมชนก็ยังยึดถือเอาประเพณีและข้อปฏิบัติที่ได้รับจากบรรพบุรุษสืบทอดกันมา ตามความเชื่อดั้งเดิมบวกกับความเชื่อทางพระพุทธศาสนา โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ตายต่อไป

คติธรรมที่ได้จากประเพณีการบำเพ็ญศพในชุมชนตำบลกลันทา คือ การมีสติไม่หลงตาย    ไม่ตั้งอยู่ในความประมาท เห็นสัจธรรมในขันธ์ ๕ ประเพณีการปฏิบัติต่อศพได้คติธรรม คือ ความกตัญญูกตเวทีความเคารพนับถือ หลักไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ประเพณีการสวดศพได้คติธรรมคือการอุทิศส่วนกุศล การมีน้ำใจต่อกัน ประเพณีการบวชหน้าศพและจูงศพได้คติธรรมคือความกตัญญูรู้คุณ การสร้างอริยทรัพย์คือคุณความดีต่างๆ ประเพณีการเผาศพได้คติธรรม คือสัจธรรมของชีวิตได้แก่อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ความไม่ประมาทในชีวิต ความเคารพนับถือต่อกัน และประเพณีการเก็บอัฐิการทำบุญอุทิศให้แก่ผู้ตาย ให้คติธรรมด้านความกตัญญูกตเวที ความสำนึกในบุญคุณต่อกัน และการเกิดใหม่ในโลกหน้า ด้วยอาศัยอำนาจของบุญกุศลที่ทำอุทิศให้แก่ผู้ตายนั้นจะทำให้ผู้ตายได้ไปเกิดในภพภูมิที่ดีในโลกหน้าต่อไป

ดาวน์โหลด

 

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕