หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » จิตราพันธ์ รักษาขันธ์
 
เข้าชม : ๒๑๐๔๔ ครั้ง
ศึกษาเปรียบเทียบเรื่องตัณหาในพระพุทธศาสนากับคริสต์ศาสนา
ชื่อผู้วิจัย : จิตราพันธ์ รักษาขันธ์ ข้อมูลวันที่ : ๐๑/๐๕/๒๐๑๗
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(ศาสนาเปรียบเทียบ)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระราชสิทธิมุนี
  แสวง นิลนามะ
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๕๕๘
 
บทคัดย่อ

                                                     บทคัดย่อ

วิทยานิพนธ์นี้ มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ ๑) เพื่อศึกษาเรื่องตัณหาในพระพุทธศาสนา ๒) เพื่อศึกษาเรื่องตัณหาในคริสต์ศาสนา และ ๓) เพื่อศึกษาเปรียบเทียบเรื่องตัณหาในพระพุทธศาสนากับคริสต์ศาสนา โดยเป็นการศึกษาในเชิงเอกสาร  แล้วนำมาวิเคราะห์  สังเคราะห์ เปรียบเทียบในเชิงพรรณนา ดังนี้

ตัณหาในพุทธศาสนา คือ ความทะยานอยาก ความดิ้นรนเร้าร้อน ความกระหาย หมายถึงความอยากที่ฝังอยู่ในจิตใจของคนที่ยังเป็นปุถุชนทั่วไป ลักษณะของตัณหา เป็นเหตุให้เกิดอีกประกอบด้วยความกำหนัด ความเพลิดเพลินยินดีในอารมณ์นั้น ๆ  การแบ่งตัณหา จะทำให้ผู้ศึกษาทำความเข้าใจตัณหาได้ตามลำดับและถูกต้องตามความเป็นจริงเพื่อประโยชน์ในการทำความเข้าใจสภาวะจริงแห่งตัณหา ประเภทของตัณหาสรุป ได้ ๓ ประเภท คือ ๑. ตัณหาแบ่งโดยอาการ          ๒. ตัณหาแบ่งโดยอารมณ์ ๓. ตัณหาแบ่งโดยกาล สาเหตุและบ่อเกิดของตัณหา ย่อมมีองค์ประกอบให้เกิด คือ อาศัยอายตนะภายในกระทบกับอายตนะภายนอก เกิดความรู้สึกขึ้น เรียกว่า เกิดผัสสะ และผัสสะนั้นก็ก่อให้เกิดเวทนา ความรู้สึกอารมณ์ที่เข้ามานั้นว่า เป็นสุขบ้าง ทุกข์บ้าง ไม่สุขไม่ทุกข์บ้าง มีวิธีการละหรือวิธีการดับ หลักการปฏิบัติเพื่อความบริสุทธิ์ของพรหมจรรย์ ความบริสุทธิ์แห่งศีล และดับตัณหาตามหลักอริยสัจ ๔ (๑) ทุกข์ (๒) สมุทัย (๓) นิโรธ (๔) มรรค  โดยอาศัยการปฏิบัติตามหลักของมรรคมีองค์ ๘ การกระทำให้เป็นไปพร้อม ๆ ปฏิบัติให้บริบูรณ์ในศีล  สมาธิและปัญญานั้น  เมื่อปัญญาบริบูรณ์แล้ว  สามารถละตัณหาได้อย่างสิ้นเชิง 

ตัณหาในคริสต์ศาสนา ถูกจัดให้อยู่ในลักษณะของความโลภ หรือความรักความใคร่ ความรักนั้นมีหลายประเภท โดยเฉพาะความรักของมนุษย์นั้น มักเป็นความรักที่เจือด้วยกิเลสคือราคะ เป็นความรักที่หวังสิ่งตอบแทนซึ่งกันและกัน ลักษณะของตัณหา จิตใจและเนื้อหนัง แต่อันที่จริงการต่อสู้นั้นเป็นเรื่องที่สืบทอดกันมาจากบาปเป็นผลที่ตามมาของบาป เป็นสาเหตุและบ่อเกิดของตัณหา  เกิดความอยากโลภขึ้น เกิดความอยากได้ของต้องห้าม ความโลภอยากได้ที่เกิดจากมารว่า  มารชักจูงให้มนุษย์ทำการล่วงประเวณี การลองใจของซาตาน  และการชำระใจ ให้บริสุทธิ์ใจเป็นที่อยู่ของบุคลิกภาพทางศีลธรรม  ดวงใจเป็นที่เกิดของความคิดดี  ศีลล้างบาป เพื่อยกบาปทุกข้อ  ไม่ว่าจะเป็นบาปกำเนิดและบาปส่วนตัวทุกข้อ การภาวนา เป็นการพบปะกับพระเจ้า ความสัมพันธ์ระหว่าง    พระเจ้ากับมนุษย์ การสนทนากับพระเจ้าด้วยความรัก การติดต่อกับพระเจ้า  การตอบสนองพระเจ้า การวิงวอนขอความช่วยเหลือจากพระเจ้า เป็นความสัมพันธ์ที่เปรียบดังความสนิทสัมพันธ์ของดวงใจหนึ่งกับอีกดวงหนึ่งซึ่งเปี่ยมด้วยความรักที่มีต่อกัน

เมื่อเปรียบเทียบแล้ว  ทั้งสองศาสนาให้ความสำคัญของตัณหา และกำหนดวิธีการแก้ไขเรื่องตัณหาไว้เช่นกัน  แต่แตกต่างกันในแง่ของการเจริญสติภาวนาด้วยการยึดอารมณ์ โดยพุทธศาสนาเถรวาทสอนให้ควบคุมอารมณ์ที่ตนเองประสบอยู่มากำหนดขอบเขตพิจารณาให้รู้แจ้งเห็นจริงตามสภาวธรรมแล้วปล่อยวางไม่ยึดมั่น ไม่พึ่งพิงสิ่งภายนอกแต่อย่างใด  ในขณะที่คริสต์ศาสนาโรมันคาทอลิกสอนให้น้อมจิตศรัทธาในการภาวนายอมรับการช่วยให้รอดพ้นจากพระเจ้าและพระเยซูคริสต์ เป็นต้น

 ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕