หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระครูวิศาลวรคุณ (อนาลโย)
 
เข้าชม : ๑๙๙๖๗ ครั้ง
การศึกษาเปรียบเทียบแนวคิดเรื่องไฟในศาสนาฮินดูกับพระพุทธศาสนา เถรวาท
ชื่อผู้วิจัย : พระครูวิศาลวรคุณ (อนาลโย) ข้อมูลวันที่ : ๐๑/๐๕/๒๐๑๗
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(ศาสนาเปรียบเทียบ)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหาสุริโย อุตฺตมเมธี
  แสวง นิลนามะ
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๕๕๘
 
บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

การศึกษาวิจัยเรื่อง “การศึกษาเปรียบเทียบแนวคิดเรื่องไฟในศาสนาฮินดูกับ     พระพุทธศาสนาเถรวาท” นี้ มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ  ๑) เพื่อศึกษาแนวคิดเรื่องไฟในศาสนาฮินดู ๒) เพื่อศึกษาแนวคิดเรื่องไฟในพระพุทธศาสนาเถรวาท และ ๓) เพื่อศึกษาเปรียบเทียบแนวคิดเรื่องไฟในศาสนาฮินดูกับพระพุทธศาสนาเถรวาท โดยในงานวิจัยนี้ เป็นการศึกษาในเชิงเอกสารจากคัมภีร์ทางศาสนาเป็นหลัก ครอบคลุมในประเด็นเกี่ยวกับวิวัฒนาการของไฟทั้งภายในและภายนอก คุณประโยชน์ของไฟ โทษของไฟ และการประยุกต์ใช้ไฟในชีวิตประจำวัน

ผลการวิจัยพบว่า  ทั้งศาสนาฮินดูและพระพุทธศาสนาเถรวาท มีทัศนะว่าการเกิดขึ้นของไฟนั้นมีผู้สร้างและโลกนี้มีการเกิดขึ้น ดำรงอยู่ แตกทำลายไป แล้วกลับมาเกิดอีกเช่นเดิม  ในฝ่ายของศาสนาฮินดูกล่าวว่าพระพรหมเป็นผู้สร้างโดยมีพระอัคนีเป็นผู้ควบคุมดูแลทั้งระบบสุริยจักรวาล ที่เกี่ยวข้องกับไฟทุกประการตั้งแต่เกิดจนกระทั่งดับสูญ ส่วนฝ่ายพระพุทธศาสนาเถรวาท กล่าวว่าระบบสุริยจักรวาลเกิดและดับพระคุณธรรมของบุคคลในโลกรวมทั้งมนุษย์และเทวดา แต่เป็นการทำลายตัวของมันเองโดยธรรมชาติจนดับสลายไป และกลับเกิดขึ้นใหม่เป็นปกติธรรมดา

ในประเด็นที่เหมือนกันศาสนาฮินดูและพระพุทธศาสนาเถรวาท มีทัศนะว่า ไฟให้ประโยชน์แก่ร่างกายของมนุษย์และสัตว์ทั้งหลาย โดยเป็นส่วนที่ทำให้อาหารที่รับประทานเข้าไปย่อยสลาย ให้ความอบอุ่นแก่ร่างกายทั้งด้านในและด้านนอก  ส่วนในประเด็นที่มองต่างกัน  ศาสนาฮินดูมีทัศนะว่า นอกจากประเด็นดังกล่าวแล้ว ไฟยังใช้เป็นสื่อกลางให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับเทพเจ้า เช่น การใช้ไฟเป็นเครื่องเผาวัตถุสำหรับเซ่นสังเวยเทพเจ้า และควันของไฟย่อมนำเอาวัตถุที่เผาทำลายไปมอบถวายแด่เทพเจ้า เพื่อดลบันดาลในสิ่งที่ตนปรารถนา  ในส่วนของพระพุทธศาสนาเถรวาท  มองถึงประโยชน์จากไฟที่เป็นผู้ทำลาย อันแสดงให้เห็นถึงทุกสิ่งมีเกิดแล้วย่อมมีดับไปเป็นธรรมดา

ศาสนาฮินดูมีทัศนะว่า โทษเกิดจากภัยธรรมชาติก่อให้เกิดขึ้น และเกิดจากการดลบันดาลของเทพเจ้า ในเมื่อพระองค์ไม่พอพระทัยจากเครื่องสักการะ  ส่วนพระพุทธศาสนาเถรวาทมีทัศนะว่า โทษที่เกิดจากไฟมี ๒ ประการคือ โทษจากภายในร่างกาย อันเกิดจากการทำงานไม่สมดุลของธาตุไฟ ทำให้การเผาผลาญพลังงานไม่เต็มที่ ก่อให้เกิดโรคต่าง ๆ ที่เกิดเพราะไฟกำเริบ  อีกประการหนึ่ง เป็นโทษที่เกิดเพราะความบกพร่องของไฟในระบบของธรรมชาติ เช่น ความร้อนจากดวงอาทิตย์ ไฟป่าก่อให้เกิดควันสร้างมลพิษและทำลายสุขภาพของมนุษย์ได้

การประยุกต์ใช้ไฟในชีวิตประจำวัน ในส่วนของศาสนาฮินดู มุ่งไปที่พฤติกรรมในการประกอบพิธีกรรมบูชาไฟและการบูชายัญซึ่งมีไฟเป็นเครื่องประกอบหรือเป็นสื่อนำเครื่องสังเวยนั้นไปปฏิการต่อเทพเจ้า รวมถึงการใช้ไฟเป็นเครื่องนำพาร่างกายของบุคคลที่เสียชีวิตแล้วให้เข้าไปสู่ภพภูมิที่ปรารถนาตามคติของศาสนาฮินดู  ส่วนพระพุทธศาสนาแม้จะมีพิธีกรรมที่เกี่ยวกับไฟ  แต่ไม่ใช่เป้าหมายที่แท้จริงของการใช้ไฟ อันที่จริงแล้วจะเน้นไปที่การนำไฟไปเป็นสื่อในการเผยแผ่ศาสนา เช่น และการใช้ไฟเป็นอุปกรณ์ในการบรรลุธรรม คือการนำไฟมาเป็นเครื่องมือการเจริญกสิณ

ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕