บทคัดย่อ
วิทยานิพนธ์นี้มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ (๑) ศึกษาแนวคิดเรื่องตรีมูรติในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู (๒) ศึกษาแนวคิดเรื่องตรีกายในพุทธศาสนามหายาน (๓) เปรียบเทียบความเหมือนและความแตกต่างในสองแนวคิดดังกล่าว
ผลวิจัยตามข้อที่ ๑ พบว่า ตรีมูรติหมายถึงเทพเจ้า ๓ แบบ หรืออวตารของเทพเจ้าเป็นการแบ่งหน้าที่ของเทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู มีพัฒนาการมาอย่างยาวนาน ตามหลักฐานมีการแบ่งเป็นหลายยุค โดยเฉพาะในยุคอวตาร ยุคเสื่อม และยุคฟื้นฟู มีคติการสร้างเทพเจ้า ๓ องค์ ให้เป็นผู้สร้าง ผู้รักษา และผู้ทำลาย โดยท่านอาทิศังกราจารย์แต่งคัมภีร์ปุราณะฟื้นฟูปรับปรุงศาสนาพราหมณ์ให้เป็นศาสนาฮินดูสร้างแนวคิดอวตาร แม้แต่พระพุทธเจ้ากลายเป็นปางหนึ่งของพระนารายณ์(ปางพุทธาวตาร)ส่งผลให้พุทธศาสนาในอินเดียถูกกลืนหายไปอยู่ในร่างของศาสนาพราหมณ์-ฮินดูจนพุทธศาสนาเสื่อมสูญจากอินเดียไปโดยปริยาย
ผลวิจัยตามข้อที่ ๒ พบว่า ตรีกาย หมายถึง แนวคิดการแยกกายของพระพุทธเจ้าออกเป็น ๓ กาย คือ ๑. สัมโภคกาย คือกายทิพย์ประทับอยู่ ณ พุทธเกษตรแดนสุขาวดี เป็นกายที่อยู่ระหว่างธรรมกาย (กายธรรม) และ นิรมาณกาย (กายอวตาร) ดำรงอยู่นิรันดร พ้นจาก อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เป็นกายที่มีอยู่ก่อนนิรมาณกาย และมีอยู่หลังปรินิพพานของนิรมาณกาย ๒. นิรมานกาย คือ กายที่ทรงเนรมิตขึ้นมา เป็นกายเนื้อให้คนทั่วไปมองเห็นได้ เป็นการสอนธรรมแปรสภาพตามกฎไตรลักษณ์อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มีการเสด็จดับขันธปรินิพพาน เป็นกายที่ทรงนิรมิตมาเพื่อบำเพ็ญพุทธกิจ ๓. ธรรมกาย คือ กายแท้ของพระพุทธเจ้า เป็นแก่นสัจจธรรม ที่ดำรงอยู่ไม่มีวันสลาย เป็นนิจจัง สุขัง ศูนยตา และบริสุทธิ์ อาจสรุปได้ว่า “ตรีกาย” คือกายทิพย์ที่สถิตอยู่บนแดนพุทธเกษตร แต่เสด็จอวตารลงมาช่วยเหลือมนุษย์หรือเสด็จลงมาโปรดสรรพสัตว์ โดยธาตุแท้ของพระองค์นั้นมีความสมบูรณ์นิรันดร์
ผลวิจัยตามข้อที่ ๓ พบว่าเมื่อเปรียบเทียบแล้วพบทั้งความเหมือนและความแตกต่าง
ในด้านความเหมือน ทั้งตรีมูรติและตรีกาย มีความเชื่อแบบเทวนิยมคือการอวตารของเทพหรือภาวะสูงสุด โดยจำแลงลงมาเป็น ๓ ภาวะ หรือเทพ ๓ แบบ
ส่วนในด้านความแตกต่าง ตรีมูรติมีความเชื่อว่าพระเจ้าสูงสุด (พระพรหม) อวตารลงมาเป็นพระวิษณุนารายณ์ ๑๐ ปาง ส่วนแนวคิดตรีกายแม้จะเป็นแนวคิดเข้าข่ายเทวนิยมก็จริง แต่ไม่ได้เน้นความสำคัญของการอวตารแบบศาสนาพราหมณ์-ฮินดูแต่อย่างใด
ดาวน์โหลด |