บทคัดย่อ
วิทยานิพนธ์เรื่องนี้ มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ (๑) เพื่อศึกษาพละ ๕ ที่ปรากฏในคัมภีร์พุทธศาสนาเถรวาท (๒) เพื่อศึกษาหลักธรรมที่เกี่ยวข้องกับพละ ๕ ในคัมภีร์พุทธศาสนาเถรวาท (๓) เพื่อศึกษาแนวทางการประยุกต์ใช้พละ ๕ ในคัมภีร์พุทธศาสนาเถรวาท โดยการศึกษาข้อมูลจากคัมภีร์พุทธศาสนาเถรวาท ได้แก่ พระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา และคัมภีร์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เรียบเรียง บรรยาย ตรวจสอบ โดยอาจารย์ที่ปรึกษา และผู้เชี่ยวชาญ จากการศึกษาพบว่า
คำว่า พละ หมายถึง ธรรมอันเป็นกำลัง ซึ่งทำให้เกิดความเข้มแข็งมั่นคงดำรงอยู่ได้ ในสัมปยุตตธรรมทั้งหลายอย่างไม่หวั่นไหว อันธรรมที่เป็นปฏิปักษ์จะเข้าครอบงำไม่ได้ เป็นเครื่องเกื้อหนุนแก่อริยมรรค จัดอยู่ในกลุ่มโพธิปักขิยธรรม มี ๕ ประการ คือ (๑) สัทธาพละ กำลังคือศรัทธา (๒) วิริยพละ กำลังคือวิริยะ (๓) สติพละ กำลังคือสติ (๔) สมาธิพละ กำลังคือสมาธิ (๕) ปัญญาพละ กำลังคือปัญญา องค์ธรรมเหล่านี้เป็นกำลังซึ่งทำให้เกิดความเข็มแข็งมั่นคงดำรงอยู่ในสัมปยุตตธรรมทั้งหลายอย่างไม่หวั่นไหว เป็นเครื่องเกื้อหนุนแก่อริยมรรคปฏิปทา จัดอยู่ในจำพวกโพธิปักขิยธรรม ธรรมที่เป็นเครื่องกระทำให้แจ้งพระนิพพาน
จากการศึกษาหลักธรรมที่เกี่ยวข้องกับพละ ๕ ในคัมภีร์พุทธศาสนาเถรวาท สรุปได้ว่าขอบเขตและความหมายของหลักธรรมที่เกี่ยวข้อง ที่สนับสนุนพละ ๕ ซึ่งเรียกว่า “โพธิปักขิยธรรม” ได้แก่ ธรรมที่เกื้อกูลให้เกิดการรู้แจ้ง หรือธรรมที่สนับสนุนอริยมรรคมี ๓๗ ประการ ได้แก่สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคมีองค์ ๘
การประยุกต์ใช้พละ ๕ ในด้านของการเจริญกรรมฐานที่เชื่อมโยงกับหลักธรรมต่าง ๆ คืออาตาปี สติมา สัมปชาโน ขณะที่ใช้ความเพียรประคองสติกำหนดอารมณ์กรรมฐานอยู่สัมปชัญญะจะช่วยให้สามารถกำหนดแน่วแน่อยู่ในปัจจุบัน ขณะทำให้การปฏิบัติดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่อง
การประยุกต์ใช้พละ ๕ ในการพัฒนาตนและการพัฒนาชีวิตที่ดีงาม การที่บุคคลจะประสบความสำเร็จในชีวิตในด้านต่าง ๆ นั้น ทั้งทางโลกและทางธรรม ต้องพัฒนาทั้ง ๔ ด้าน คือ กายภาวนา ศีลภาวนา จิตตภาวนา และปัญญาภาวนา
ดาวน์โหลด
|