หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระครูปลัดปราโมทย์ ปโมทิโต (ปานเจริญ)
 
เข้าชม : ๒๑๐๔๕ ครั้ง
ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างความเพียรกับการบรรลุธรรมในคัมภีร์พุทธศาสนาเถรวาท
ชื่อผู้วิจัย : พระครูปลัดปราโมทย์ ปโมทิโต (ปานเจริญ) ข้อมูลวันที่ : ๒๘/๐๔/๒๐๑๗
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระครูพิพิธวรกิจจานุการ
  เสนาะ ผดุงฉัตร
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๕๕๘
 
บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

              วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ เพื่อศึกษาเรื่องความเพียรในคัมภีร์พุทธศาสนาเถรวาท  เพื่อศึกษาการบรรลุธรรมในคัมภีร์พุทธศาสนาเถรวาท และเพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างความเพียรกับการบรรลุธรรมในคัมภีร์พุทธศาสนาเถรวาท โดยการศึกษาข้อมูลจากคัมภีร์พุทธศาสนาเถรวาท ได้แก่ พระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา และคัมภีร์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เรียบเรียง บรรยาย ตรวจสอบ โดยอาจารย์ที่ปรึกษา และผู้เชี่ยวชาญ จากการศึกษาพบว่า

              ความเพียรตามภาษาบาลีว่า วิริยะแปลความหมายตามรูปศัพท์ในภาษาไทยว่า ความเพียร ความพยายาม ความบากบั่นมั่นคง กำลัง เดช และอานุภาพความเพียร หรือวิริยะ มีลักษณะ คือการแสวงหาประโยชน์ การละบาป เจริญธรรมที่ควรเจริญ ให้เป็นไปพร้อมทั้งกายและจิต บากบั่นให้คุณธรรมเพื่อการข้างหน้า ซึ่งความเพียรมีความสำคัญใน ๒ บริบท คือ  ๑. ความเพียรในบริบทแห่งโลกีย์  คือแนวการปฏิบัติตามความเพียร เป็นแนวการปฏิบัติที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ให้ปฏิบัติเพื่อขูดเกลากิเลส  ๒. ความเพียรในบริบทแห่งโลกุตระ คือ การชำระจิตให้ขาว  มีความหลุดพ้นจากกิเลส มองเห็นสิ่งทั้งปวงตามความเป็นจริง

              การบรรลุธรรมในพระพุทธศาสนาเถรวาท หมายถึง การพัฒนาคุณภาพที่สูงขึ้น ไปสู่ปัญญาขั้นโลกุตตระ คือ บรรลุอริยมรรค อริยผล เป็นอริยบุคคลในพระพุทธศาสนา โดยระดับของการบรรลุธรรม จัดเป็น ๔ คู่ คือ มรรค ๔ ผล ๔ ตั้งแต่ระดับต่ำโสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล สกทาคามิมรรค สกทาคามิผล อนาคามิมรรคอนาคามิผล จนถึงระดับสูง คือการบรรลุอรหัตตมรรค อรหัตตผล การบรรลุธรรมนั้นจําแนกได้เป็นหลายระดับตามพระอริยบุคคล คือ พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี และพระอรหันต์ ซึ่งหลักธรรมที่ใช้เป็นเกณฑ์แบ่งระดับการบรรลุธรรมคือสังโยชน์ ๑๐ หมายถึง  กิเลสที่ผูกใจสัตว์  หรืออกุศลธรรมที่ผูกมัดสัตว์ไว้กับทุกข์ในสังสารวัฏ  ได้แก่ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส กามราคะ ปฏิฆะ รูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ และอวิชชา  และการปฏิบัติเพื่อบรรลุธรรมนั้นจำเป็นต้องอาศัยสิกขา ๓ หรือ ไตรสิกขา ได้แก่ ๑. อธิสีลสิกขา  ๒. อธิจิตตสิกขา  ๓. อธิปัญญาสิกขา  ซึ่งเป็นหลักสำหรับศึกษาคือ ฝึกหัดอบรมกาย วาจา ใจ และปัญญาให้ยิ่งขึ้นไปจนบรรลุเป้าหมายสูงสุดคือ พระนิพพาน ซึ่งการบรรลุธรรมเป็นพระอริยบุคคลในพระพุทธศาสนานั้น มีธรรมที่สนับสนุนการบรรลุธรรมนี้เรียกว่า โพธิปักขิยธรรม หมายถึง ธรรมที่เกื้อกูลให้เกิดการรู้แจ้ง หรือธรรมที่เกื้อหนุนแก่อริยมรรค มี ๓๗ ประการ แบ่งเป็น ๗ หมวด คือ (๑) สติปัฏฐาน ๔ (๒) สัมมัปปธาน ๔ (๓) อิทธิบาท ๔    (๔) อินทรีย์ ๕ (๕) พละ ๕ (๖) โพชฌงค์ ๗ (๗) อริยมรรคมีองค์ ๘

              ส่วนความสัมพันธ์ระหว่างความเพียรกับการบรรลุธรรมในคัมภีร์พุทธศาสนาเถรวาทนั้น  มีหลักการปฏิบัติที่อาศัยความเพียรเพื่อการบรรลุธรรมคือโพธิปักขิยธรรม ประกอบด้วย ๑. หลักปฏิบัติเพื่อบรรลุธรรมแบบสติปัฏฐาน ๔ เป็นหลักปฏิบัติที่เน้นตั้งสติกำหนดพิจารณาสิ่งทั้งหลายให้รู้เห็นตามความเป็นจริง  ๒. หลักปฏิบัติเพื่อบรรลุธรรมแบบสัมมัปปธาน ๔ เป็นหลักปฏิบัติที่เน้นเรื่องความเพียรชอบ ๓. หลักปฏิบัติเพื่อบรรลุธรรมแบบอิทธิบาท ๔ เป็นหลักปฏิบัติที่เน้นเรื่อง ทางแห่งความสำเร็จ  คุณเครื่องให้ถึงความสำเร็จ  ๔. หลักปฏิบัติเพื่อบรรลุธรรมแบบอินทรีย์ ๕ และพละ ๕  เป็นหลักปฏิบัติที่เน้นเรื่องธรรมที่เป็นใหญ่ในกิจของตน เป็นหลักปฏิบัติทางจิตใจ ให้ถึงความหลุดพ้น ๕. หลักปฏิบัติเพื่อบรรลุธรรมแบบโพชฌงค์ ๗ เป็นหลักปฏิบัติที่เน้นเรื่ององค์แห่งการตรัสรู้ หรือองค์แห่งการรู้แจ้งธรรมตามความเป็นจริง ๖. หลักปฏิบัติเพื่อบรรลุธรรมแบบอริยมรรค เป็นหลักปฏิบัติที่เน้นเรื่องทางอันประเสริฐทางของพระอริยะ จะเห็นได้ว่าโพธิปักขิยธรรมมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการบรรลุธรรม เนื่องจากอาศัยความเพียรในแต่ละองค์ธรรม เพื่อการปฏิบัติไปสู่มรรคผลแห่งความสำเร็จ โดยแต่ละองค์ธรรมจะปฏิบัติการพร้อมกันบ้างไม่พร้อมกันบ้าง และมีอารมณ์ที่เหมือนกันบ้างแตกต่างกันบ้าง แต่ในขณะบรรลุธรรมจะปฏิบัติการพร้อมกัน และมีนิพพานเป็นอารมณ์เหมือนกัน

ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕