บทคัดย่อ
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ เพื่อศึกษาแนวคิดเรื่องขันติและโสรัจจะในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท เพื่อศึกษาหลักธรรมที่เกี่ยวข้องกับขันติและโสรัจจะในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท และเพื่อศึกษาการประยุกต์ขันติและโสรัจจะในการดำเนินชีวิต โดยการศึกษาข้อมูลจากคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท คือ พระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา และคัมภีร์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น คัมภีร์วิสุทธิมรรค เป็นต้น โดยนำข้อมูลมาเรียบเรียงบรรยาย ตรวจสอบความถูกต้องโดยผู้เชี่ยวชาญ จากการศึกษาพบว่า
ขันติ โดยรูปศัพท์และความหมายที่ใช้ในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา มี ๔ บท คือ ติติกฺขา, ขนฺติ, ขมน และ ขมา ขนฺติ แปลว่า ความอดทน, ความอดกลั้น ความยับยั้ง ความไม่ ดุร้าย ความไม่ปากร้าย ความแช่มชื่นใจ หลักขันติในพระพุทธศาสนาเถรวาท เป็นลักษณะของความอดทนต่อสภาวะต่าง ๆ สามารถจำแนกได้ ดังนี้คือ (๑) ความอดทนต่อความลำบาก คือความลำบากที่ต้องประสบตามธรรมชาติ (๒) ความอดทนต่อทุกขเวทนา คือทุกข์ที่เกิดจากสังขาร (๓) ความอดทนต่อความเจ็บใจ คือการที่คนอื่นทำให้ผิดหวังหรือพูดจาให้เจ็บช้ำใจ และ (๔) ความอดทนต่ออำนาจกิเลสคือสิ่งยั่วยวนทั้งหลายทั้งทางใจและทางกาย โสรัจจะ หมายถึง ความสงบเสงี่ยม ความมีอัธยาศัยงดงาม ความประณีตความเรียบร้อยรวมถึงความไม่หรูหรา
หลักธรรมที่เกี่ยวข้องและสนับสนุนต่อขันติและโสรัจจะ บางหลักธรรมเกี่ยวข้องโดยตรง บางหลักธรรมมีส่วนสนับสนุนให้การปฏิบัติบรรลุตามวัตถุประสงค์ ขันติถือเป็นมงคลธรรมข้อหนึ่งในมงคล ๓๘ ประการ ผู้ประพฤติปฏิบัติได้อย่างสม่ำเสมอ ย่อมจะเป็นมงคลต่อชีวิตของตนเองและผู้อื่น โดยพบว่า ในการแสดงขันติธรรมนั้น เพื่อประโยชน์การข่มหรือบรรเทาเบาบางโทสะแล้วต่อด้วยการเจริญเมตตา เป็นต้น
ในการศึกษาแนวทางการประยุกต์ขันติและโสรัจจะในการดำเนินชีวิต นั้น พบว่า ขันติและโสรัจจะ เป็นคุณธรรมสำคัญที่เป็นเครื่องประคองจิตใจไม่ให้ท้อถอย เมื่อประสบความลำบากตรากตรำหรือความทุกข์ยาก อดทนต่อสู้รู้รักษาจิตใจให้เป็นปกติ ไม่หงุดหงิดฉุนเฉียว เป็นกำลังใจให้สามารถต่อสู้กับกิเลสทั้งหลายให้สงบราบคาบ ดังพุทธศาสนสุภาษิตว่า ขนฺตี ปรมํ ตโป ตีติกฺขา. “ความอดทน คือความอดกลั้น เป็นตบะอย่างยิ่ง” ขันติเป็นตัวข่มกายวาจา ไม่ให้แสดงอาการดิ้นรนหรือพูดจาตอบโต้ เป็นต้น โสรัจจะ เป็นตัวข่มใจให้สงบนิ่ง อีกนัยหนึ่ง โสรัจจะถือเป็นโสภณธรรม คือเป็นธรรมที่ทำให้งดงามทั้งกาย วาจา และใจ
ดาวน์โหลด
|