บทคัดย่อ
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ (๑) เพื่อศึกษาแนวคิดเรื่องบุตรในคัมภีร์พุทธศาสนาเถรวาท (๒) เพื่อศึกษาหลักธรรมที่เกี่ยวกับบุตรในคัมภีร์พุทธศาสนาเถรวาท (๓) เพื่อศึกษาการประยุกต์หลักธรรมที่เกี่ยวข้องกับการเลี้ยงดูบุตร โดยการศึกษาข้อมูลจากคัมภีร์พุทธศาสนาเถรวาท ได้แก่ พระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา และคัมภีร์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เรียบเรียง บรรยาย ตรวจสอบ โดยอาจารย์ที่ปรึกษา และผู้เชี่ยวชาญ จากการศึกษาพบว่า
บุตร ในทางพระพุทธศาสนามีความหมาย ๔ ประการ คือ ผู้ป้องกันบิดามารดา ไม่ให้ตกนรก ผู้ชำระตระกูลของตนให้สะอาด ผู้ยังหทัยของมารดาบิดาให้เต็ม และ ผู้อันบิดามารดา ต้องเลี้ยงดู ในพระพุทธศาสนาเถรวาท จัดประเภทของบุตรไว้หลากหลาย แต่ที่โดดเด่นคือการจัดประเภทตามระดับคุณธรรม ได้แก่ (๑) อภิชาตบุตร บุตรที่มีคุณธรรมสูงกว่าบิดามารดา (๒) อนุชาตบุตร บุตรที่มีคุณธรรมเสมอกับบิดามารดา (๓) อวชาตบุตร บุตรที่มีคุณธรรมต่ำกว่าบิดามารดา และมีการใช้สำนวนโวหารอธิบายความหมายเรื่องบุตรในเชิงเป็นอุบายวิธีการสอน ความกตัญญูกตเวทีต่อบิดามารดา อุปัชฌาย์ อาจารย์ และผู้มีพระคุณ ตลอดถึงทุกสิ่งที่ตนเกี่ยวข้องและได้พึ่งพิงอาศัย เป็นหน้าที่สำคัญของบุตร
ผลการศึกษาหลักธรรมที่เกี่ยวกับบุตร ในทางพระพุทธศาสนา พบว่า มีหลักธรรมที่เกี่ยวข้องกับบุตรหลายประการ เช่น หลักที่บุตรพึงปฏิบัติต่อบิดามารดา ที่พระพุทธองค์ทรงแสดงต่อสิงคาลกมาณพ ความกตัญญูกตเวที และหลักปุริสธรรม เป็นต้น ในการศึกษาแนวทางการประยุกต์หลักธรรมนั้นมาใช้พบว่า บุตรต้องมีหลักธรรมประจำใจ หลักธรรมที่โดดเด่นคือ ความกตัญญูกตเวที หลักสัปปุริสธรรม หลักกัลยาณมิตรธรรม และหลักสุจริตธรรมเป็นต้น ที่ไม่เพียงแต่จะช่วยเกื้อหนุนให้เป็นบุตรที่พึงประสงค์ได้เท่านั้น แต่ยังสามารถนำไปปรับใช้ในสังคมได้อย่างกว้างขวาง เช่น หลักธัมมจริยา โสวจัสสตา และ ธัมมสากัจฉา เป็นต้น โดยเฉพาะเรื่องความกตัญญูต่อสังคม สถาบัน ประเทศชาติ และธรรมชาติสิ่งแวดล้อม ตลอดถึงสรรพสัตว์ทั้งหลายเพื่อให้เกิดสันติสุขร่วมกันในปัจจุบันและอนาคต
ดาวน์โหลด
|