บทคัดย่อ
วิทยานิพนธ์เรื่องนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาทัศนคติต่อการสอนธรรมศึกษาของพระสงฆ์ในโรงเรียนชุมชนวัดบ้านระกาศ อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ และเพื่อศึกษาปัญหาอุปสรรคและข้อเสนอแนะต่อการสอนธรรมศึกษาของพระสงฆ์ในโรงเรียนชุมชนวัดบ้านระกาศ อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ
กลุ่มตัวอย่างคัดเลือกโดยวิธีสุ่มแบบเจาะจงจากนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ - ๖ โรงเรียนชุมชนวัดบ้านระกาศ อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ รวมจำนวนทั้งสิ้น ๑๒๐ คน เป็นนักเรียนชาย ๖๒ คน (ร้อยละ ๕๑.๖๗) และนักเรียนหญิง ๕๘ คน (ร้อยละ ๔๘.๓๓) ส่วนใหญ่ร้อยละ ๓๖.๖๗ เป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ ส่วนนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๕ ซึ่งมีจำนวนเท่ากันกับชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖ ซึ่งมีจำนวนร้อยละ ๓๑.๖๗ ในแต่ละชั้นเรียน ซึ่งเครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้เป็นแบบสอบถามที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น มีค่าสัมประสิทธิ์ความเชื่อมั่นเท่ากับ ๐.๘๘ สถิติที่ใช้ในการทำวิจัยประกอบด้วยสถิติพื้นฐาน ได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ส่วนสถิติที่ใช้ศึกษาวัตถุประสงค์การวิจัย ได้แก่ สถิติการแจกแจงแบบทีชนิดที่เป็นอิสระจากกัน (t-dependent) และสถิติการวิเคราะห์ความแปรปรวนร่วม (Analysis of Covariance : ANOVA)
ผลการศึกษาตามวัตถุประสงค์พบว่า ๑) ด้านเนื้อหาหลักสูตรมีสาระที่น่าสนใจ แต่เนื้อหาส่วนใหญ่ยากแก่การทำความเข้าใจของนักเรียน ๒) ด้านเทคนิคการสอน พบว่า พระสอนมีความรู้ดีและสอนเก่ง แต่ขาดทักษะในการการอธิบายเนื้อหาหรือยกตัวอย่างประกอบให้นักเรียนเข้าใจง่าย ๓) ด้านการจัดกิจกรรมการสอน พบว่า พระสงฆ์มีการจัดกิจกรรมด้านการสาธิตการกราบไหว้และการถวายของพระสงฆ์ แต่ไม่มีการจัดนิทรรศการวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาและการจัดทัศนศึกษานอกสถานที่ให้สอดคล้องกับเนื้อหา ๔) ด้านการใช้สื่อการสอน พบว่า มีการใช้สื่อการสอนได้ตรงกับเนื้อหาของบทเรียนเป็นส่วนใหญ่ แต่นักเรียนไม่เกิดการเรียนรู้ผ่านสื่อตามสภาพจริงจากสื่อนั้น ๕) ด้านการจัดสภาพแวดล้อม พบว่า พระสงฆ์ปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดีของนักเรียน แต่ไม่มีทักษะในการสร้างสภาพแวดล้อมในห้องเรียนเอื้อต่อการเรียนวิชาพระพุทธศาสนา ๖) ด้านการวัดผลและประเมินผล พบว่า พระสงฆ์ใช้ข้อสอบเน้นความคิดความเข้าใจอย่างมีเหตุผล แต่พระที่สอนนั้นไม่มีการประเมินผลหลังการเรียนทุกครั้ง
ผลการศึกษาทัศนคติของนักเรียนชายและนักเรียนหญิงในด้านการสอนธรรมศึกษา พบว่า ส่วนใหญ่นักเรียนหญิงมีคะแนนเฉลี่ยที่สูงกว่านักเรียนชาย โดยเฉพาะทัศนคติต่อเนื้อหาหลักสูตรที่พบว่ามีค่าเฉลี่ยแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ ๐.๐๕ ส่วนด้านอื่นๆ นั้น มีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับใกล้เคียงกันและไม่พบว่ามีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ ๐.๐๕ สำหรับการศึกษาทัศนคติของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ – ๖ ต่อการจัดกิจกรรมการสอนพบว่านักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ มีค่าเฉลี่ยทัศนคติที่สูงกว่านักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖ และมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ ๐.๐๕ ส่วนทัศนคติต่อการสอนธรรมศึกษาในด้านอื่นๆ นั้นไม่พบว่ามีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ ๐.๐๕
ผลการศึกษาปัญหาอุปสรรคต่อการสอนธรรมศึกษาของพระสงฆ์ในโรงเรียนชุมชนวัดบ้านระกาศ อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ ผลของการศึกษาพบว่า เนื้อหาหลักสูตรยากแต่เข้าใจง่าย พระสงฆ์ขาดเทคนิคการสอนการอธิบายยกตัวอย่างประกอบการเรียน ไม่มีการจัดการศึกษานอกสถานที่สอดคล้องกับเนื้อหา และพบว่ามีใช้สื่อการสอนที่ไม่ทันสมัย สภาพแวดล้อมในห้องเรียนไม่เอื้อต่อการเรียนวิชาพระพุทธศาสนา และพระที่สอนนั้นไม่มีการประเมินผลหลังการเรียน
ดาวน์โหลด
|