บทคัดย่อ
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ เพื่อศึกษาวิปัสสนาภูมิ ๖, เพื่อศึกษาทุกขอริยสัจในการปฏิบัติวิปัสสนาภาวนา, เพื่อศึกษาวิธีกำหนดรู้ทุกข์ในการปฏิบัติวิปัสสนาภาวนา ในการศึกษาครั้งนี้ได้ทำการศึกษาหลักธรรมตามคัมภีร์พุทธศาสนาเถรวาท คือ พระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา และคัมภีร์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องโดยการประมวล วิเคราะห์ และเรียบเรียงข้อมูล ตรวจสอบความถูกต้องจากผู้เชี่ยวชาญ และอาจารย์ที่ปรึกษา นำมาบรรยายเชิงพรรณนาเรียงตามลำดับ วัตถุประสงค์ของการวิจัย จากการศึกษาพบว่า
วิปัสสนา คือ การรู้แจ้งในสภาวะรูป - นาม เห็นอาการเกิด ดับของรูป - นาม ในไตรลักษณ์ตามความเป็นจริงด้วยปัญญา องค์ธรรมของวิปัสสนา คือ ปัญญาเจตสิกธรรม อารมณ์ของวิปัสสนา ได้แก่ วิปัสสนาภูมิ ๖ คือ ขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒ ธาตุ ๑๘ อินทรีย์ ๒๒ อริยสัจ ๔ และปฏิจจสมุปบาท ๑๒ เมื่อย่อแล้วเหลือเพียงรูป - นาม โดยพิจารณาจนเกิดปัญญาเห็นสภาวธรรมที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป ว่าย่อมเกิดตามเหตุปัจจัย และดับตามเหตุปัจจัยชื่อว่า ได้พิจารณาเห็นแจ้งในสภาวะรูป - นาม ตามที่ปรากฎในการปฏิบัติวิปัสสนาภาวนา เพื่อคลายความยึดมั่นถือมั่นจนละกิเลส ตัณหาอันเป็นแนวทางในการทำให้จิตบริสุทธิ์หมดจดพ้นจากทุกข์ได้
ในการศึกษาทุกขอริยสัจ พบว่า ทุกขอริยสัจ คือ ธรรมชาติที่เป็นทุกข์ มีลักษณะเบียดเบียนทั้งทางกาย และใจอยู่เป็นนิจ มีการปรุงแต่งอยู่เป็นประจำ เร่าร้อนจากโมหะเป็นเหตุ ซึ่งเป็นธรรมชาติที่ทนสภาพอยู่ได้ยาก มีอาการถูกบีบคั้น ถูกเบียดเบียน ไม่คงที่ แปรปรวนอยู่เสมอ และควบคุมไม่ได้ เมื่อถูกเหตุปัจจัยปรุงแต่งก็เกิดขึ้น เมื่อหมดเหตุปัจจัยดับลง ทุกข์เป็นสิ่งที่ต้องกำหนดรู้ ทุกข์ในการปฏิบัติวิปัสสนาหรือที่เป็นอารมณ์วิปัสสนา คือ ทุกข์ในขันธ์ ๕ ที่เป็นอุปาทานขันธ์ คือ รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ เป็นกองทุกข์ โดยย่อ คือ รูป - นาม เป็นสภาวะที่รู้ชัดโดยการปฏิบัติวิปัสสนา
ส่วนวิธีกำหนดรู้ทุกข์ในการปฏิบัติวิปัสสนาภาวนา จากการศึกษาพบว่า เป็นลักษณะที่มีการสัมผัสถูกต้องกับอารมณ์ที่ไม่ดี มีความเศร้าหมอง มีความไม่สบายทางกาย ซึ่งเป็นกระบวนการใช้สติ และสมาธิ ตามรู้ความจริงของรูป - นาม ทำให้เกิดปัญญา โดยใช้หลักปริญญา ๓ คือ (๑) ญาตปริญญา ปัญญาขั้นกำหนดรู้ขั้นรู้จักทุกข์ว่าเป็นรูป – นาม ที่ก่อ เกิดตามเหตุ และปัจจัย (๒) ตีรณปริญญา ปัญญาขั้นกำหนดพิจารณาทุกข์ เป็นการพิจารณารูป - นาม ให้เห็นตามความเป็นจริงในกฎไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา (๓) ปหานปริญญา ปัญญาขั้นกำหนดละทุกข์ ละอุปาทานในขันธ์ ๕ ด้วยประหานกิเลส ๕ ระดับ จนเห็นการเกิด ดับของรูป - นาม ในขันธ์ ๕ อันเป็นทุกข์ จนบรรลุมรรค ผล นิพพานได้
ดาวน์โหลด
|