บทคัดย่อ
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ เพื่อศึกษาวิจิกิจฉานิวรณ์ในคัมภีร์พุทธศาสนาเถรวาท เพื่อศึกษาหลักธรรมเพื่อละวิจิกิจฉานิวรณ์ เพื่อศึกษาวิธีการปฏิบัติเพื่อละวิจิกิจฉานิวรณ์ในคัมภีร์พุทธศาสนาเถรวาท โดยศึกษาข้อมูลจากคัมภีร์พุทธศาสนาเถรวาท คือ พระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา และ เอกสาร ตำราต่าง ๆ เป็นต้น โดยนำมาเรียบเรียง บรรยาย ตรวจสอบความถูกต้องของเนื้อหาโดยผู้เชี่ยวชาญ และอาจารย์ที่ปรึกษา จากการศึกษาพบว่า
วิจิกิจฉา คือ ธรรมที่มีความสงสัยลังเลใจไม่กล้าตัดสินใจเป็นลักษณะ มีความหวั่นไหวในความรู้สึกนึกคิด เป็นงานที่ทำ มีการตัดสินใจลงเป็นอันเดียวไม่ได้ เป็นผล มีการทำไว้ในใจโดยไม่แยบคายต่อความรู้สึก เป็นเหตุใกล้
หลักธรรมเพื่อละวิจิกิจฉานิวรณ์ พบว่ามี ๓ แบบ คือ (๑) องค์ฌาน คือ วิตก วิจาร ปีติสุข เอกัคคตา ซึ่งวิจารในองค์ฌานสามารถละวิจิกิจฉานิวรณ์แบบวิกขัมภนปหาน (๒) วิปัสสนา คือ การกำหนดรูปนามจนเห็นพระไตรลักษณ์ ซึ่งทำให้คลายความสงสัยในสภาวธรรมที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า จัดเป็นการละวิจิกิจฉานิวรณ์แบบตทังคปหาน (๓) องค์มรรค คือ โสดาปัตติมรรคสามารถละวิจิกิจฉานิวรณ์ได้อย่างเด็ดขาด เป็นสมุจเฉทปหาน
การปฏิบัติเพื่อละวิจิกิจฉานิวรณ์ในคัมภีร์พุทธศาสนาเถรวาท มีแนวทางการปฏิบัติ ๒แบบ คือ (๑) สมถภาวนา การเจริญสมถกรรมฐานทำองค์ฌาน ๕ คือ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา ให้เกิดขึ้น (๒) วิปัสสนาภาวนา คือ การเจริญวิปัสสนาโดยอาศัยวิปัสสนาภูมิ ๖ โดยย่อ คือ รูปนาม เป็นแดนเกิดของปัญญา โดยผ่านกระบวนการปฏิบัติตามหลักสติปัฎฐาน ๔ คือ สติเข้าไปตั้งมั่นในกาย เรียกว่ากายานุปัสสนาสติปัฏฐาน สติเข้าไปตั้งมั่นในเวทนา เรียกว่าเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน สติเข้าไปตั้งมั่นในจิต เรียกว่าจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน สติเข้าไปตั้งมั่นในธรรม เรียกว่า ธัมมา-นุปัสสนาสติปัฏฐาน ส่วนองค์มรรค คือ ผลที่เกิดจากการเจริญวิปัสสนาภาวนา จนวิปัสสนาญาณพัฒนาขึ้น แล้วมรรคสมังคีกันอันเป็นเหตุให้ได้บรรลุ เป็นพระโสดาบันบุคคล ซึ่งพระโสดาบันบุคคลสามารถปหานวิจิกิจฉาได้อย่างสิ้นเชิง
ดาวน์โหลด
|