บทคัดย่อ
วิทยานิพนธ์นี้มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ เพื่อศึกษาขันธ์ ๕ และอายตนะ ๑๒ ในคัมภีร์พุทธศาสนาเถรวาท, เพื่อศึกษาการเจริญวิปัสสนาภาวนาในคัมภีร์พุทธศาสนาเถรวาท และเพื่อศึกษาขันธ์ ๕ และอายตนะ ๑๒ ในการเจริญวิปัสสนาภาวนาตามในคัมภีร์พุทธศาสนาเถรวาท โดยการศึกษาข้อมูลจากคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท คือพระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา และคัมภีร์ที่เกี่ยวข้อง เช่น คัมภีร์วิสุทธิมรรค โดยการเรียบเรียง และบรรยายตรวจสอบโดยผู้เชี่ยวชาญ จากการศึกษาพบว่า
ขันธ์ ๕ คือกองแห่งรูปธรรมและนามธรรม ที่ประชุมกันเป็นหมวดรวมซึ่งบัญญัติเรียกว่า สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา อันเป็นธรรมดาของสัตว์โลกทั้งหลาย ที่ยังมีความเห็นผิด ไม่รู้ตามความเป็นจริงในสภาวธรรมที่เกิดขึ้นว่า มีเพียงรูปนาม และอายตนะ ๑๒ คือซึ่งที่เชื่อมต่อให้เกิดความรู้
มีอายตนะภายใน ๖ อายตนะภายนอก ๖ อายตนะภายใน ๖ คือ เชื่อมต่อให้เกิดความรู้ แดนต่อความรู้ฝ่ายภายใน มี ๑. จักขุ (ตา) ๒. โสตะ (หู) ๓. ฆานะ (จมูก) ๔. ชิวหา (ลิ้น) ๕. กาย (กาย)
๖. มโน (ใจ) ทั้ง ๖ อย่างนี้เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า อินทรีย์ ๖ เพราะเป็นใหญ่ในหน้าที่ของแต่ละอย่าง เช่น จักษุ เป็นเจ้าการในการเห็น เป็นต้น อายตนะภายนอก ๖ ที่เชื่อมต่อให้เกิดความรู้ แดนต่อการรู้ฝ่ายภายนอก ๑. รูปะ (รูป สิ่งที่เห็นหรือวัณณะ คือ สี) ๒. สัททะ (เสียง) ๓. คันธะ (กลิ่น) ๔. รสะ (รส) ๕. โผฏฐัพพะ (สัมผัสทางกาย) ๖. ธรรม หรือธรรมารมณ์ (อารมณ์ที่เกิดกับใจ สิ่งที่ใจนึกคิด) ทั้ง ๖ นี้เรียกทั่วไปว่า อารมณ์ ๖ คือเป็นสิ่งสำหรับให้จิตยึดหน่วง เป็นปัจจัยให้เกิดทุกข์ หรือพ้นจากทุกข์ได้ ซึ่งชีวิตของมนุษย์ และสัตว์ทั้งหลายที่ต้องตกอยู่ในสังสารวัฏอย่างไม่มีที่สิ้นสุด
การเจริญวิปัสสนาภาวนาในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท เป็นการฝึกฝนอบรมปัญญาให้เกิดความรู้แจ้งตามความเป็นจริง โดยอาศัยการกำหนดรู้รูป-นาม ในปัจจุบันอารมณ์ตามหลักสติปัฏฐาน ๔ ซึ่งเป็นการใช้สติกำหนดรู้อารมณ์คือ รูป นาม ขันธ์ ๕ ทางอายตนะ ๑๒ ที่ปรากฏทางกาย เวทนา จิต และธรรม จนเกิดปัญญาเห็นสภาวธรรมที่เกิดขึ้นตามเหตุปัจจัย ซึ่งพระพุทธองค์ทรงรับรองว่าทางนี้เป็นทางสายเดียว เพื่อความบริสุทธิ์ของเหล่าสัตว์ เพื่อล่วงโสกะและปริเทวะ เพื่อดับทุกข์และโทมนัส เพื่อบรรลุธรรม (อริยมรรค) และเพื่อทำให้แจ้งพระนิพพาน
จากการศึกษาการพิจารณาขันธ์ ๕ และอายตนะ ๑๒ ในการปฏิบัติวิปัสสนา พบว่า เมื่อผู้ปฏิบัติพิจารณารู้ขันธ์ ๕ รูป นาม ทางอายตนะ ๑๒ ตามความเป็นจริง ย่อมรู้รับรู้สภาวะ
การเห็น การได้ยิน การรู้กลิ่น การลิ้มรส การสัมผัส และการนึกคิด ซึ่งเป็นอารมณ์ของตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ โดยมีสติเป็นองค์กำกับ เมื่อสติกำลังมากขึ้น ย่อมเกิดปัญญาเห็นความจริงของ
นาม-รูป ตามหลักพระไตรลักษณ์ ซึ่งดำเนินไปตามแนวทางแห่งวิปัสสนาญาณ จนพ้นจากความทุกข์ทั้งปวง สู่ความเป็นพระอริยบุคคลในพระพุทธศาสนา
ดาวน์โหลด
|