หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระอภิมุข สมจิตฺโต (อภิชัยเดชาวงศ์)
 
เข้าชม : ๒๑๐๔๔ ครั้ง
ศึกษาการปฏิบัติวิปัสสนาภาวนาเพื่อขจัดกิเลส ที่ปรากฏในสามัญญผลสูตร
ชื่อผู้วิจัย : พระอภิมุข สมจิตฺโต (อภิชัยเดชาวงศ์) ข้อมูลวันที่ : ๒๖/๐๔/๒๐๑๗
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(วิปัสนาภาวนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระครูพิพิธวรกิจจานุการ
  เสนาะ ผดุงฉัตร
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๕๕๘
 
บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ เพื่อศึกษาเนื้อหาหลักธรรมในสามัญญผลสูตร เพื่อศึกษาหลักธรรมที่ใช้ขจัดกิเลสในสามัญญผลสูตร และเพื่อศึกษาหลักการปฏิบัติวิปัสสนาภาวนาเพื่อขจัดกิเลสที่ปรากฏ ในสามัญญผลสูตร โดยการศึกษาข้อมูลจากคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท คือ พระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา และคัมภีร์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องแล้วนำมาเรียบเรียงบรรยายเป็นเชิงพรรณนาเสนอผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบแล้วแก้ไขตามคำแนะนำ จากการศึกษาพบว่า

สามัญญผลสูตรเป็นหลักธรรมที่พระพุทธองค์ทรงแสดงให้แก่พระเจ้าอชาตศัตรู ปรากฏในพระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เป็นหลักการ และวิธีการปฏิบัติในพระพุทธศาสนาที่สมบูรณ์ยิ่งสูตรหนึ่ง เพราะสามารถสะท้อนภาพร่วมแห่ง “เหตุ” และ “ผล” อันเป็นหัวใจคำสอนในพระพุทธศาสนาออกมาได้อย่างชัดเจน สามัญญผลสูตรจึงมีประโยชน์อย่างยิ่งต่อนักการศาสนารวมถึงพระภิกษุทั้งหลาย เพราะเป็นหลักเกณฑ์มาตรฐานแห่งการครองตนในฐานะสงฆ์

หลักธรรมที่ใช้ขจัดกิเลสในสามัญญผลสูตร ประกอบด้วยการถึงพร้อมด้วยความสมบูรณ์แห่งศีล สำรวมอินทรีย์ มีสติสัมปชัญญะ สันโดษ บำเพ็ญสมาธิได้ฌานระดับต่าง ๆ ได้วิชชา ๘ สามารถขจัดกิเลสทั้ง ๓ อันได้แก่ กิเลสอย่างหยาบ (วีติกกมกิเลส) กิเลสอย่างกลาง (ปริยุฏฐานกิเลส) และกิเลสอย่างละเอียด (อาสวะ และอนุสัยกิเลส) โดยการเจริญวิปัสสนาภาวนาอันเป็นผลทำอาสวะให้สิ้นไปในที่สุด

หลักการปฏิบัติวิปัสสนาภาวนาเพื่อขจัดกิเลส ในพระพุทธศาสนานั้น ผู้ปฏิบัติจำเป็นจะต้องใช้ไตรสิกขาทั้ง ๓ ประการ คือ ศีล สมาธิ และปัญญาเข้าทำลาย วิธีการขจัดกิเลสสามารถจำแนกได้เป็น ๓ ระดับ คือการขจัดวีติกกมกิเลสด้วยศีล การใช้ศีลกำจัดกามนั้นก็คือ ให้ใช้อินทรียสังวร คือ สำรวมตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ของเรา ไม่ให้ยินดียินร้ายเมื่อเห็นรูป ฟังเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรส ถูกต้องสัมผัสทางกาย และแม้แต่รับอารมณ์ทางใจ การขจัดปริยุฏฐานกิเลสด้วยสมาธิ คือ ใช้สมถกรรมฐานเป็นตัวกำจัดกามโดยตรง ส่วนการละอนุสัยกิเลสด้วยปัญญาก็คือ การกำหนดพิจารณารู้ รูปนาม ในปัจจุบัน ตามหลักสติปัฏฐาน ๔ คือ กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน อันมีอาตาปี สัมปชาโน สติมา เป็นองค์คุณที่จะทำให้เห็นสภาวธรรมทั้งหลายที่ปรากฏตามความเป็นจริง ย่อมสามารถกำจัดอภิชฌา และโทมนัสในโลกได้ รู้แจ้งแทงตลอดในสัจจะ ๔ ดังนั้น สติปัฏฐานจึงเป็นหลักธรรมสำคัญในการปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์

ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕