หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระภิญโญ ภูริปญฺโญ (เศรษฐสิโรตม์)
 
เข้าชม : ๒๑๐๕๐ ครั้ง
ศึกษาหลักธรรมที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติวิปัสสนาภาวนาในสติสูตร
ชื่อผู้วิจัย : พระภิญโญ ภูริปญฺโญ (เศรษฐสิโรตม์) ข้อมูลวันที่ : ๒๖/๐๔/๒๐๑๗
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(วิปัสนาภาวนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหาสันติ นาควโร
  บุณชญา วิวิธขจร
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๕๕๘
 
บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

             วิทยานิพนธ์เรื่องนี้มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ เพื่อศึกษาเนื้อหาหลักธรรมในสติสูตร
เพื่อศึกษาหลักสติปัฏฐานในการปฏิบัติวิปัสสนาภาวนาในคัมภีร์พุทธศาสนาเถรวาท เพื่อศึกษา
การปฏิบัติวิปัสสนาภาวนาตามหลักธรรมในสติสูตร โดยวิธีการศึกษาข้อมูลจากคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท คือ พระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา และคัมภีร์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เรียบเรียง บรรยาย ตรวจสอบโดยผู้เชี่ยวชาญจากการศึกษา พบว่า

             สติสูตร เป็นสูตรที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ ๓ สูตร ปรากฏใน ๑) อัมพปาลิวรรค
๒) อนนุสสุตตวรรค ๓) อมตวรรค ซึ่งพระธรรมสังคาหกาจารย์ รวบรวมร้อยกรองไว้ในคัมภีร์
สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค โดยมีหลักธรรมที่เป็นสาระสำคัญที่ทรงแสดงไว้ คือ สติสูตร
ที่ ๑ ตรัสเน้นถึงความจำเป็นต้องมีสติสัมปชัญญะควบคู่ในการดำรงชีวิต สติสูตรที่ ๒ ตรัสอธิบายถึงลักษณะความหมายของสติสัมปชัญญะ สติสูตรที่ ๓ ตรัสให้ดำรงตนอยู่ด้วยสติและทรงย้ำพร่ำสอนอยู่เสมอ เพื่อเป็นแกนหลักในการพิจารณาอารมณ์วิปัสสนา

             สติปัฏฐาน ๔ คือ แนวทางการปฏิบัติโดยพิจารณา กาย เวทนา จิต ธรรม และ กำหนดรู้สภาวธรรมปัจจุบันในแต่ละขณะอย่างจดจ่อต่อเนื่อง หรือมีลักษณะเพ่งจิตลงไปที่อารมณ์กัมมัฏฐาน และกำหนดรู้อย่างครบถ้วนบริบูรณ์ ไม่มีส่วนขาดส่วนเกิน มีความครบถ้วนในการกำหนดรู้ และ ธรรมสนับสนุน ๓ อย่าง คือ ๑) มีอาตาปี ความพากเพียรในการปฏิบัติเพื่อเป็นเครื่องเผากิเลส ๒) มีสัมปชัญญะอย่างต่อเนื่อง ๓) มีสติระลึกรู้อยู่กับรูป - นามปัจจุปัน ย่อมละความยินดียินร้ายในโลกเสียได้ ก้าวล่วงออกจากทุกข์ บรรลุถึงซึ่งวิมุตติ เข้าถึงซึ่งความบริสุทธิ์

             จากการศึกษาการปฏิบัติวิปัสสนาภาวนาตามหลักธรรมในสติสูตร พบว่า มีปรากฏหลักธรรมที่ทรงแสดงไว้อย่างชัดเจน คือ มีเนื้อหาว่าด้วยหลักการเจริญ สติปัฏฐาน ๔ คือ กำจัดอภิชฌาและโทมนัส พร้อมทั้งองค์ประกอบ ๒ ส่วน คือ ส่วนที่ถูกพิจารณา คือ กาย เวทนา จิต ธรรม โดยสังเขป และส่วนที่พิจารณา คือ สติ นอกจากนี้ยังมีองค์ประกอบเสริม คือ อาตาปี และสัมปชาโน เป็นส่วนสนับสนุน ในการเจริญสติปัฏฐานขณะเดียวกันในพระสูตร ทรงแสดงจุดเน้นในการปฏิบัติตนอยู่อย่างมี สติและสัมปชัญญะ ซึ่งเนื้อหาสาระของสติสูตรมีความสอดคล้องกับ มหาสติปัฏฐานสูตร สติสูตรเป็นสูตรย่อยในสูตรใหญ่ที่มีความเชื่อมโยงกันและกัน สูตรย่อยมุ่งแสดงวิธีการปฏิบัติสติปัฏฐานโดยสังเขป ส่วนสูตรใหญ่มุ่งแสดงเป้าหมายและขั้นตอนในการปฏิบัติ

ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕