หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระมหาศิรัส ปสนฺนจิตฺโต (เพียรพิทักษ์)
 
เข้าชม : ๒๑๐๔๔ ครั้ง
ศึกษาหลักธรรมที่เกี่ยวข้องกับการเจริญวิปัสสนาภาวนาในมหาเวทัลลสูตร
ชื่อผู้วิจัย : พระมหาศิรัส ปสนฺนจิตฺโต (เพียรพิทักษ์) ข้อมูลวันที่ : ๒๖/๐๔/๒๐๑๗
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(วิปัสนาภาวนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหาสมลักษณ์ คนฺธสาโร
  เวทย์ บรรณกรกุล
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๕๕๘
 
บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

             วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ เพื่อศึกษาเนื้อหาและหลักธรรมในมหาเวทัลลสูตร เพื่อศึกษาหลักการเจริญวิปัสสนาตามหลักสติปัฏฐาน และเพื่อศึกษาหลักธรรมที่เกี่ยวข้องกับการการเจริญวิปัสสนาในมหาเวทัลลสูตร โดยการศึกษาข้อมูลจากคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท คือ พระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา ปกรณวิเสส และเอกสารทางวิชาการ หนังสือ งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง เรียบเรียง บรรยาย ตรวจสอบโดยผู้เชี่ยวชาญ จากการศึกษาพบว่า

             มหาเวทัลลสูตร เป็นพระสูตรที่พระธรรมสังคาหกาจารย์ รวบรวมร้อยกรองไว้ในคัมภีร์มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ โดยมีหลักธรรมที่เป็นสาระสำคัญในมหาเวทัลลสูตร ที่แสดงบทสนทนาถึงลักษณะและความหมายของ ธรรม ๖ กลุ่ม  คือ (๑) ปัญญากับวิญญาณ  (๒) เวทนา สัญญา วิญญาณ  (๓) ปัจจัยแห่งสัมมาทิฐิ  (๔) ภพและฌาน  (๕). อินทรีย์ ๕  (๖). ปัจจัยแห่งเจโตวิมุตติ

             หลักการเจริญวิปัสสนาตามหลักสติปัฏฐาน การเจริญวิปัสสนาปัญญารู้แจ้งรูป – นาม โดยมีหลักปฏิบัติที่ปรากฏในสติปัฏฐาน ๔ คือ กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือการมีสติเข้าไปตามดูกายหรือปรากฏการณ์ทางกาย เช่น อิริยาบถ หรือ ลมหายใจ เป็นต้น  เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน  คือ การมีสติเข้าไปตามดูเวทนา ความรู้สึกที่เป็นสุข ทุกข์ เป็นต้น  จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือ การมีสติเข้าไปตามดูจิตที่ประกอบด้วย ราคะ โทสะ เป็นต้น  และธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน   การมีสติเข้าไปตามดูธรรมหรืออารมณ์ที่เกิดกับจิต เช่น นิวรณ์ เป็นต้น โดยย่นย่อ ได้แก่ รูป – และนาม

             ในการศึกษาหลักธรรมในมหาเวทัลลสูตร ที่เกี่ยวข้องกับวิปัสสนาภาวนา พบว่า บทสนทนาดังกล่าวได้แสดงผลก่อนคือ ปัญญากับวิญญาณ คือ การรู้อริยสัจ ๔ โดยผ่านกระบวนการ เวทนา สัญญาณ วิญญาณ ปัจจัยแห่งสัมมาทิฐิ ภพและฌาน อินทรีย์ ๕ และปัจจัยแห่งเจโตวิมุตติ  ซึ่งกระบวนดังกล่าวนี้ ผู้วิจัยได้สรุปเข้าในหลักของการปฏิบัติวิปัสสนาภาวนาแบบสมถยานิกะ คือ การปฏิบัติเพื่อให้จิตมีอารมณ์แน่วแน่จนเกิดองค์ฌาน  พิจารณาองค์ฌาน โดยความเป็นขันธ์ ๕ ได้แก่รูป - นาม ยกขึ้นสู่พระไตรลักษณ์ ทำให้เกิดมรรคจิต ผลจิต ตามลำดับญาณ  บรรลุมรรคผลนิพพานในที่สุด  โดยท่านผู้บรรลุแนวทางนี้ เรียกว่า เจโตวิมุติ 

ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕