บทคัดย่อ
วิทยานิพนธ์เรื่อง “ศึกษาการเจริญวิปัสสนาภาวนาในโพธิราชกุมารสูตร” มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการคือ เพื่อศึกษาเนื้อหาและหลักธรรมในโพธิราชกุมารสูตร เพื่อศึกษาการเจริญวิปัสสนาตามหลักพุทธศาสนาเถรวาท และเพื่อศึกษาการเจริญวิปัสสนาภาวนาในโพธิราชกุมารสูตร โดยการศึกษาข้อมูลจากคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาทคือ พระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา และคัมภีร์อื่น ๆ หนังสือตำราที่เกี่ยวข้อง เรียบเรียง บรรยาย ตรวจสอบโดยผู้เชี่ยวชาญ จากการศึกษาพบว่า
โพธิราชกุมารสูตร เป็นพระสูตรที่พระธรรมสังคาหกาจารย์ รวบรวมร้อยกรองไว้ในคัมภีร์มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ ต่อจากลำดับ มธุรสูตร โดยมีสาระสำคัญกล่าวถึง หลักธรรมการละกามคุณ ๕ สมาบัติ ๘ วิชชา ๓ การเปรียบเวไนยสัตว์ดังดอกบัว ปฏิจจสมุปบาท อริยสัจ ๔ และองค์ของภิกษุผู้มีความเพียร ๕ ประการ ซึ่งเป็นพุทธประวัติตรัสรู้ของพระพุทธองค์ซึ่งทรงตรัสกับพระราชกุมารพระนามว่า “โพธิ” ผู้ทรงแสวงหาหนทางสู่ความสงบและสันติสุข โดยมีหลักธรรมที่สำคัญคืออริยสัจ ๔ ตามหลักมัชฌิมาปฏิปทาซึ่งแปลว่า ทางสายกลางหมายถึงการปฏิบัติที่ไม่ตึงไปทางใดทางหนึ่งคือเพื่อการบรรลุธรรมด้วยความสุข
การเจริญวิปัสสนาในคัมภีร์พุทธศาสนาเถรวาท มีหลักและวิธีการปฏิบัติแบ่งออกโดยย่อเป็น ๒ ประเภท คือ ๑) ประเภทที่ใช้สมถะเป็นบาทฐานในการเจริญวิปัสสนา คือเจริญสมถะให้สมาธิเกิดขึ้นก่อน จนถึงขั้นอัปปนาสมาธิ เมื่อองค์ฌานเกิดขึ้นแล้วยกจิตขึ้นสู่วิปัสสนาโดยความเป็นพระไตรลักษณ์เมื่อสมาธิมีกำลังกล้าแข็งขึ้นก็จะเกิดวิปัสสนาญาณรู้เห็นรูปนามอย่างชัดเจน คือ นามรูปปริจเฉทญาณ เป็นต้น จนกระทั่งบรรลุมรรคญาณและผลญาณในที่สุด เรียกว่า เจโตวิมุตติ หรือสมถยานิกและ ๒) การเจริญวิปัสสนาโดยไม่ต้องอาศัยสมาธิ ชื่อว่า วิปัสสนายานิก (สุทธวิปัสสนายานิก) ผู้ปฏิบัติเริ่มเจริญวิปัสสนา โดยกำหนดรู้สภาวธรรมที่เป็นรูปนามทันที ขณิกสมาธิที่เกิดขึ้นเป็นสมาธิที่ตั้งมั่นอยู่ในช่วงที่จิตอยู่ในขณะที่กำหนดเท่านั้น องค์ฌานที่เกิดขึ้นขณะที่สมาธิมีกำลังกล้าแข็งสามารถข่มนิวรณ์ได้ก็จะเกิดวิปัสสนาญาณรู้เห็นรูปนามอย่างชัดเจน คือ นามรูปปริจเฉทญาณ เป็นต้น จนกระทั่งบรรลุมรรคญาณและผลญาณในที่สุด เรียกว่า ปัญญาวิมุตติ หรือ ประเภทวิปัสสนายานิก
การเจริญวิปัสสนาภาวนาในโพธิราชกุมารสูตร บุคคลผู้ที่ปฏิบัติตามแนวทางของสมถะและวิปัสสนาภาวนา ย่อมที่จะได้รับผลของการปฏิบัติตามธรรมที่ตนได้ประพฤติปฏิบัติดีแล้ว โดยการปฏิบัติและกำหนดรู้ตามหลักสติปัฏฐาน ๔ คือกาย เวทนา จิต และ ธรรมนั้นตามสมควรแก่การปฏิบัติของตนและตามสภาพการพัฒนาอินทรีย์ประกอบด้วย ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ และปัญญา ตามสภาวธรรม เพื่อให้เกิดความเห็นแจ้งและเห็นตามความเป็นจริง ปัญญาที่สามารถละกิเลสได้ด้วยองค์ธรรมของภูมิปฏิบัติที่ตนปฏิบัติ โดยจะรู้ได้ด้วยการเจริญปัญญาของผู้ปฏิบัติเองจนถึงทางแห่งความหลุดพ้นทุกข์คือดำเนินไปสู่อริยมรรคมีองค์ ๘ ด้วยการบรรลุธรรมซึ่งอาศัยสิ่งที่สำคัญ ๒ ประการคือมีคุณสมบัติของภิกษุ ๕ ประการแห่งการถึงพร้อมด้วยอินทรีย์เรียกว่า ปธานิยังคะความเพียรประกอบด้วย ๑. ศรัทธา ๒. มีโรคน้อย ๓. ไม่โอ้อวด ไม่มีมายา ๔ มีความเพียรไม่ทอดธุระ ๕. มีปัญญา และได้พบพระพุทธเจ้าผู้เป็นผู้แนะนำสั่งสอนก็สามารถบรรลุธรรมนำสู่บรมสุขได้
ดาวน์โหลด
|