หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระวินัยธรประสิทธิ์ สุจิณฺโณ (คำมาก)
 
เข้าชม : ๑๙๙๗๙ ครั้ง
ศึกษาการพัฒนาสติเพื่อให้เป็นสติสัมโพชฌงค์ในการเจริญวิปัสสนาภาวนา
ชื่อผู้วิจัย : พระวินัยธรประสิทธิ์ สุจิณฺโณ (คำมาก) ข้อมูลวันที่ : ๒๖/๐๔/๒๐๑๗
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(วิปัสนาภาวนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระศรีสุทธิเวที
  จรูญ วรรณกสิณานนท์
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๕๕๘
 
บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ เพื่อศึกษาสติที่ปรากฏในคัมภีร์พุทธศาสนาเถรวาท เพื่อศึกษาการเจริญวิปัสสนาภาวนาตามหลักสติปัฏฐาน ๔ ที่ปรากฏในคัมภีร์พุทธศาสนาเถรวาท และเพื่อศึกษาการพัฒนาสติเพื่อให้เป็นสติสัมโพชฌงค์ในการเจริญวิปัสสนาภาวนาโดยการศึกษาข้อมูลจากคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท คือพระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา และคัมภีร์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง แล้วนำมาเรียบเรียงบรรยายเป็นเชิงพรรณนา เสนอผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบแล้วแก้ไขตามคำแนะนำ จากการศึกษาพบว่า

สติ คือการระลึกได้มีการเข้าไปประคองไว้เป็นลักษณะ มีลักษณะแนบชิดอารมณ์ มีหน้าที่ไม่หลงลืม มีประโยชน์ในการระแวดระวังรักษา มีความจำได้หมายรู้ และสติปัฏฐานในกาย เป็นต้น เป็นทางดำเนิน สติยังมีปรากฏในธรรมะหมวดอื่น ๆ เช่น พละ ๕ อินทรีย์ ๕ โพชฌงค์ ๗ และสติปัฏฐาน ๔ ซึ่งหลักธรรมทั้งหมดนี้ ล้วนเกี่ยวข้องกับการพัฒนาสติ เพื่อการบรรลุมรรค ผล นิพพาน

การเจริญวิปัสสนาภาวนา มีสติปัฏฐาน ๔ เป็นหลักธรรมสำคัญ มีองค์ประกอบสำคัญ คือ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำหนดรู้รูปนามตามสติปัฏฐานด้วยการระลึกไปตามฐานที่ตั้งทั้ง ๔ คือ กาย เวทนา จิต และธรรมอย่างต่อเนื่อง มีอาตาปี สัมปชาโน สติมา เป็นองค์คุณที่จะทำให้เห็นสภาวธรรมทั้งหลายที่ปรากฏตามความเป็นจริง ทำให้ผู้เจริญวิปัสสนาภาวนาเกิดปัญญาหยั่งเห็นรูปนาม พระไตรลักษณ์ และอริยสัจ ๔ อย่างแท้จริง ด้วยการพิจารณาเห็นความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ทำให้มีสติรู้เท่าทันสิ่งที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง โดยมีหลักธรรมในโพธิปักขิยธรรมช่วยประคับประคองสนับสนุนการยกระดับของสติโดยต่อเนื่อง

การพัฒนาสติ หมายถึง กระบวนการยกระดับความคมชัดของสติและความต่อเนื่องของการกำหนดรู้อารมณ์กรรมฐานตลอดการเจริญวิปัสสนาภาวนา เพื่อเจริญอาการปรากฏของสติ ซึ่งพัฒนาและก่อให้เกิดลักษณะสำคัญของอาการปรากฏแห่งสติ คือ ทำให้จิตรับรู้อารมณ์ที่ปรากฏเฉพาะหน้า ระลึกรู้ในปัจจุบันขณะ และปล่อยวางอารมณ์ทุกอารมณ์ที่มากระทบ สติสัมโพชฌงค์ หมายถึง องค์แห่งปัญญาเป็นเครื่องตรัสรู้ คือ สติ เป็นความระลึกได้ที่มีพลังแห่งการเฝ้าดู มีความตื่นตัวและเป็นเฉพาะหน้าต่ออารมณ์ สติจึงจัดเป็นองค์ประกอบของโพชฌงค์ข้อหนึ่ง ความมีสติสัมโพชฌงค์ทำให้แน่ใจได้ว่าจิตจะหยั่งลึกลงสู่อารมณ์ จนเกิดการพัฒนาของญาณทัสสนะ ผู้เจริญวิปัสสนาภาวนาจะสามารถเห็นสภาวะที่เป็นจริงในขณะที่มีสติกำหนดรู้อารมณ์นั้นอยู่ ทำให้รู้ซึ้งถึงสภาวะของจิตที่ประสงค์จะรู้โดยมี โยนิโสมนสิการ เป็นหลักธรรมพื้นฐาน เป็นมูลเหตุ เป็นปัจจัย ให้กุศลธรรมทั้งหลายเกิดขึ้นมา

ดาวน์โหลด

 

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕