บทคัดย่อ
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ เพื่อศึกษาเนื้อหาและหลักธรรมในมหาตัณหาสังขยสูตร เพื่อศึกษาหลักการเจริญวิปัสสนาในพระพุทธศาสนา และเพื่อศึกษาหลักธรรมที่เกี่ยวข้องกับการการเจริญวิปัสสนาในมหาตัณหาสังขยสูตร โดยการศึกษาข้อมูลจากคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท คือ พระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา และตำราอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น คัมภีร์วิสุทธิมรรค เป็นต้น เรียบเรียง บรรยาย ตรวจสอบโดยผู้เชี่ยวชาญ จากการศึกษาพบว่า
มหาตัณหาสังขยสูตร เป็นพระสูตรที่พระธรรมสังคาหกาจารย์ รวบรวมร้อยกรองไว้ในคัมภีร์มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ มหายมกวรรค พระพทธองค์แสดงแก่ภิกษุทั้งหลายขณะประทับ ณ พระเชตวัน เขตเมืองสาวัตถี ปรารภความเห็นผิดของภิกษุชื่อว่าสาติ ที่มีความเห็นผิดเรื่อง วิญญาณ พระพุทธองค์ทรงแสดงเรื่องวิญญาณว่าเป็นกระบวนการของขันธ์ ๕ และ ปฏิจจสมุปปาท เป็นวงจรให้เกิดทุกข์ ท้ายพระสูตร พระองค์ทรงแสดงวิธีปฏิบัติเพื่อความหลุดพ้นจากทุกข์โดยการเจริญวิปัสสนามีองค์ฌานเป็นบาทฐาน
จากการศึกษาแนวทางการเจริญวิปัสสนาในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท พบว่า มีแนวทางในการเจริญวิปัสสนา ๒ แบบ คือ สมถยานิกะ และวิปัสสนายานิกะ แม้ในคัมภีร์ปฏิสัมภิทามรรค จะแสดงการหลักการปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้งซึ่งอรหัตต์ ด้วยมรรคใดมรรคหนึ่ง ใน ๔ แบบนี้ คือ ๑. สมถปุพพังคมวิปัสสนา เจริญวิปัสสนามีสมถะนำหน้า ๒. วิปัสสนาปุพพังคมสมถะ เจริญสมถะมีวิปัสสนานำหน้า ๓. สมถวิปัสสนายุคนัทธะ เจริญสมถะและวิปัสสนาควบคู่กันไป
๔. ธัมมุทธัจจะวิปัสสนา เจริญวิปัสสนาละความฟุ้งซ่านภายใน
จากการศึกษาหลักธรรมที่เกี่ยวข้องกับการเจริญวิปัสสนา ในมหาตัณหาสังขยสูตร พบว่า มีข้อความพระพุทธดำรัสที่ตรัสตอนท้ายของพระสูตร ที่แสดงลำดับขั้นตอนของการปฏิบัติเพื่อให้พ้นจากทุกข์ คือ ความถึงพร้อมด้วยสิกขาและสาชีพ อินทรียสังวร เจริญสติสัมปชัญญะ พิจารณาองค์แห่งฌานที่เกิดขึ้นตามลำดับ จนสามารถพัฒนาปัญญาญาณบรรลุโดยเจโตวิมุตติและปัญญาวิมุตติ ซึ่งหลักการดังกล่าวนี้ สอดคล้องกับวิธีการปฏิบัติตามแบบสมถปุพพังคมวิปัสสนา
ดาวน์โหลด
|