หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระครูศรีภาวนาวิสุทธิคุณ (บุญโชติ อาภากโร, ศรีโฉมงาม)
 
เข้าชม : ๑๙๙๗๘ ครั้ง
ศึกษาการบรรลุธรรมของอุบาลีเถระ
ชื่อผู้วิจัย : พระครูศรีภาวนาวิสุทธิคุณ (บุญโชติ อาภากโร, ศรีโฉมงาม) ข้อมูลวันที่ : ๒๖/๐๔/๒๐๑๗
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(วิปัสนาภาวนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหาสุรชัย วราสโภ
  ณัทธีร์ ศรีดี
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๕๕๘
 
บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

             วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ เพื่อการศึกษาการบรรลุธรรมในคัมภีร์พุทธศาสนาเถรวาท เพื่อศึกษาแนวทางปฏิบัติเพื่อบรรลุธรรมในคัมภีร์พุทธศาสนาเถรวาท และเพื่อศึกษาประวัติการสั่งสมบารมีและการบรรลุธรรมของพระอุบาลีเถระ โดยศึกษาข้อมูลจากพระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา คัมภีร์ปกรณ์วิเสสวิสุทธิมรรค เอกสารทางวิชาการ และตำราอื่น ๆ  ที่เกี่ยวข้อง แล้วนำมาเรียบเรียง บรรยายเชิงพรรณนา ตรวจสอบโดยผู้เชี่ยวชาญ เปรียบเทียบและทำการสรุปผล

             จากการศึกษาพบว่า การบรรลุธรรม คือ การเกิดปัญญา เห็นแจ้งอริยสัจ ๔ ขั้นสูงสุดคือ บรรลุวิชชา ๓ เข้าถึงกระแสแห่งธรรมที่เป็นไปตามลำดับขั้นตอน จนสามารถบรรลุถึงโลกุตตรธรรม ๙ คือ มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑ สำเร็จเป็นพระอริยบุคคล ระดับต่าง ๆ ดังนี้ พระโสดาบันละสังโยชน์ได้ ๓ อย่างข้างต้นมีสักกายทิฐิ วิจิกิจฉาและสีลัพพตปรามาสให้หมดสิ้นไป พระสกทาคามี ละสังโยชน์ ๓ อย่างข้างต้นให้หมดสิ้นไป และยังทำกามราคะ ปฏิฆะ ให้เบาบางลง พระอนาคามีละสังโยชน์ ๓ อย่างข้างต้นได้ และละกามราคะ ปฏิฆะ ได้อีกด้วย ส่วนพระอริยบุคคลชั้นสูงสุด คือ พระอรหันต์ละสังโยชน์ได้ ๑๐ อย่าง คือ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส กามราคะ ปฏิฆะ รูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะและอวิชชาโดยสิ้นเชิง

             จากการศึกษาแนวทางปฏิบัติเพื่อการบรรลุธรรมในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท พบว่า มีแนวทางในการเจริญวิปัสสนา ๒ แบบ คือ สมถยานิกะ และวิปัสสนายานิกะ ในคัมภีร์ปฏิสัมภิทามรรคแสดงการหลักการปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้งซึ่งพระอรหันต์ ด้วยมรรคใดมรรคหนึ่ง ใน ๔ แบบนี้ คือ ๑. สมถปุพพังคมนัย เจริญสมถะนำหน้าวิปัสสนา ๒. วิปัสสนาปุพพังคมนัย เจริญวิปัสสนาล้วน ๆ ๓. ยุคนัทธะนัย เจริญสมถะและวิปัสสนาควบคู่กันไป ๔. ธัมมุทธัจจนัย เจริญวิปัสสนาละความฟุ้งซ่านภายใน ในคัมภีร์ปฏิสัมภิทามรรคจะแสดงแนวทางการเจริญวิปัสสนาไว้ ๔ แบบ เมื่อศึกษาในคัมภีร์อรรถกถา มโนรถปูรณีและอังคุตตรฎีกา สารัตถมัญชุสาพบว่า สงเคราะห์แบบที่ ๓ และแบบที่ ๔ เข้าใน ๒ แบบข้างต้น

             ในส่วนประวัติและการสั่งสมบารมีพบว่า พระอุบาลีเถระนั้น ชื่อเดิมคือ อุบาลี เกิดในเรือนของช่างกัลบกของกษัตริย์ในนครกบิลพัสดุ์ ครั้นเจริญวัยแล้วได้รับพระราชทานแต่งตั้งให้เป็นนายภูษามาลาประจำพระองค์ ในเวลาต่อมาได้บวชติดตามพระโอรสของศากยกษัตริย์ ๕ พระองค์ คือ ภัททิยะ อนุรุทธะ อานันทะ ภคุ กิมพิละ พร้อมด้วยพระโอรสของโกลิยกษัตริย์อีก ๑ พระองค์ คือ เทวทัต เมื่อคราวออกผนวช เมื่อบวชแล้วได้เรียนกัมมัฏฐานในสำนักพระศาสดา และพระศาสดาทรงสอนพระวินัยปิฎกทั้งสิ้น แก่พระอุบาลีนั้นด้วยพระองค์เอง

             ในการศึกษาแนวทางการปฏิบัติเพื่อการบรรลุธรรม พบว่า พระอุบาลีเถระ ได้เจริญวิปัสสนาโดยการกำหนดวิปัสสนาล้วน ๆ แบบวิปัสสนาปุพพังคมนัย ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ในเวลาต่อมา เพราะความที่ท่านเป็นผู้ทรงจำ และชำนาญในพระวินัย พระพุทธเจ้าทรงตั้งท่านไว้ในฐานะที่เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ผู้เป็นเอตทัคคะทางพระวินัย

ดาวน์โหลด

 

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕