บทคัดย่อ
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ เพื่อศึกษาเนื้อหาและหลักธรรมในอากังเขยยสูตร เพื่อศึกษาหลักการเจริญวิปัสสนาในพระพุทธศาสนา และเพื่อศึกษาหลักธรรมที่เกี่ยวข้องกับการการเจริญวิปัสสนาในอากังเขยยสูตร โดยการศึกษาข้อมูลจากคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท คือ พระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา เอกสารทางวิชาการและหนังสืออื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น คัมภีร์วิสุทธิมรรค เป็นต้น เรียบเรียง บรรยาย ตรวจสอบโดยผู้เชี่ยวชาญ จากการศึกษาพบว่า
อากังเขยยสูตร เป็นพระสูตรที่พระธรรมสังคาหกาจารย์ รวบรวมร้อยกรองไว้ในคัมภีร์มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ มูลปริยายวรรค โดยมีหลักธรรมที่เป็นสาระสำคัญที่ทรงแสดงไว้ใน
อากังเขยยสูตร ที่ทรงแสดงถึงความหวัง ๑๗ ประการ เช่น ถ้าหวังให้เพื่อนสพรหมจารีทั้งหลายรักใคร่ชอบใจ เคารพ และยกย่อง ต้องรักษาศีลให้บริบูรณ์ หมั่นปฏิบัติธรรมที่ทำให้จิตสงบ หมั่นเจริญฌานและวิปัสสนาและเรียนกรรมฐาน
การเจริญวิปัสสนา หมายถึง การพัฒนาปัญญาเพื่อให้รู้แจ้งรูป-นาม องค์ธรรมของวิปัสสนา คือ ปัญญาเจตสิก คือ ปัญญาที่เห็นแจ้งชัดขันธ์ ๕ ว่ามีลักษณะของความไม่เที่ยงและความเป็นทุกข์ และความไม่ใช่ตัวตน เป็นภาวนามยปัญญาที่ทำให้เข้าใจถึงอริยสัจ ๔ จนบรรลุมรรค ผล นิพพาน ตามกำลังของวิปัสสนาญาณ วิธีการเจริญวิปัสสนาในพระพุทธศาสนามี
๒ แบบ คือ สมถยานิกะ คือ การเจริญวิปัสสนาโดยอาศัยองค์ฌานของสมถะมาก่อน และวิปัสสนายานิกะ คือ การเจริญวิปัสสนาโดยอารมณ์ปรมัตถ์ล้วน
จากการศึกษาหลักธรรมที่เกี่ยวข้องกับการเจริญวิปัสสนาในอากังเขยยสูตร พบว่า ในพระสูตรนี้ ปรากฏข้อความพระพุทธดำรัสที่แสดงถึงลำดับของการปฏิบัติวิปัสสนา เริ่มตั้งแต่ให้มีศีลสมบูรณ์ มีปาติโมกข์สมบูรณ์ จงสำรวมด้วยการสังวรปาติโมกข์ เพียบพร้อมด้วยอาจารและโคจรอยู่ ไม่เหินห่างจากฌานประกอบด้วยวิปัสสนา อันเป็นหลักการปฏิบัติแนวสมถยานิกะ ซึ่งแสดงลำดับของการปฏิบัติสมถและวิปัสสนาไว้อย่างชัดเจน
ดาวน์โหลด
|