หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระครูสุวรรณเมธาภรณ์ [ทอง ติกฺขเวโธ (สมาธิ)]
 
เข้าชม : ๒๑๐๔๕ ครั้ง
ศึกษาความเชื่อและความสนใจในการปฏิบัติธรรมของผู้สวดสาธยายพระไตรปิฎก ณ วัดไร่เกาะต้นสำโรง
ชื่อผู้วิจัย : พระครูสุวรรณเมธาภรณ์ [ทอง ติกฺขเวโธ (สมาธิ)] ข้อมูลวันที่ : ๒๔/๐๔/๒๐๑๗
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(วิปัสนาภาวนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหาสุรชัย วราสโภ
  เวทย์ บรรณกรกุล
  -
วันสำเร็จการศึกษา : 2558
 
บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

             วิทยานิพนธ์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความเชื่อและความสนใจในการปฏิบัติธรรมของผู้สวดสาธยายพระไตรปิฎก ณ วัดไร่เกาะต้นสำโรง และเพื่อศึกษาปัญหาอุปสรรคและข้อเสนอแนะต่อความเชื่อและความสนใจในการปฏิบัติธรรมของผู้สวดสาธยายพระไตรปิฎก ณ วัดไร่เกาะต้นสำโรง คัดเลือกกลุ่มตัวอย่างโดยวิธีสุ่มแบบเจาะจงจากผู้ร่วมพิธีสวดสาธยายพระไตรปิฎก ณ วัดไร่เกาะต้นสำโรง จำนวน ๑๕๐ คน เป็นเพศชาย ๕๖ คน และเพศหญิง ๙๔ คน เครื่องมือที่ใช้เป็นแบบสอบถามที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น มีค่าสัมประสิทธิ์ความเชื่อมั่นทั้งฉบับเท่ากับ ๐.๙๒ ใช้ศึกษาความเชื่อและความสนใจในการปฏิบัติธรรม ๔ ด้าน คือ ๑) ความเชื่อและความสนใจก่อนเข้าร่วมกิจกรรมโครงการ  ๒) ความเชื่อและความสนใจขณะเข้าร่วมกิจกรรมโครงการ ๓) ความเชื่อและความสนใจในกิจกรรมการปฏิบัติธรรม และ ๔) ความพึงพอใจเกี่ยวกับโครงการ

             การวิเคราะห์ข้อมูลทั่วไปและระดับความเชื่อและความสนใจในการปฏิบัติธรรมใช้สถิติพื้นฐาน (Descritptive Statistics) แสดงค่าจำนวน อัตราส่วนร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน แล้วแปลผลตามเกณฑ์ที่กำหนด ส่วนการวิเคราะห์ข้อมูลตามวัตถุประสงค์การวิจัยใช้สถิติเชิงอนุมาน (Inferential Statistics) เพื่อทดสอบหาค่าความแปรปรวนร่วม (Analysis of Covariance : ANOVA) และทดสอบหาความแตกต่างเป็นรายคู่โดยวิธีการของเชฟเฟ่ (Sheffé s post hoc comparison) ผลการศึกษาตามวัตถุประสงค์ พบว่า

             กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เป็นเพศหญิงร้อยละ ๖๒.๖๗ อายุระหว่าง ๓๖-๔๕ ปี มีการศึกษาในระดับปริญญาตรี/สูงกว่า ประกอบอาชีพค้าขายและธุรกิจส่วนตัว ผลการศึกษาความเชื่อและความสนใจในการปฏิบัติธรรมโดยรวม พบว่ากลุ่มตัวอย่างมีความเชื่อและความสนใจอยู่ในระดับมากทุกด้าน

             การศึกษาความเชื่อและความสนใจในการปฏิบัติธรรมที่จำแนกตามตัวแปรเพศ พบว่า เพศหญิงมีความเชื่อและความสนใจอยู่ในระดับที่สูงกว่าเพศชายและพบว่ามีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ ๐.๐๕ ส่วนความเชื่อและความสนใจด้านอื่นๆ นั้นพบว่ามีความแตกต่างกันอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ ๐.๐๕

             การศึกษาความเชื่อและความสนใจในการปฏิบัติธรรมที่จำแนกตามตัวแปรอายุ พบว่าผู้มีอายุต่างกันมีความเชื่อและความสนใจก่อนเข้าร่วมกิจกรรม และความเชื่อและความสนใจในการปฏิบัติธรรมที่แตกต่างกันอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ ๐.๐๕ ส่วนผู้มีอายุระหว่าง ๒๑-๓๕ ปีกับผู้มีอายุระหว่าง ๓๖-๔๕ ปี มีความเชื่อและความสนใจขณะเข้าร่วมกิจกรรมโครงการที่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ ๐.๐๕

             การศึกษาความเชื่อและความสนใจในการปฏิบัติธรรมที่จำแนกตามตัวแปรระดับการศึกษา พบว่า  ผู้มีการศึกษาต่างกันมีความเชื่อและความสนใจก่อนเข้าร่วมกิจกรรมโครงการที่แตกต่างกันอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ ๐.๐๕ ส่วนผู้มีการศึกษาในระดับชั้นประถมศึกษาและระดับปริญญาตรี/สูงกว่ามีความเชื่อและความสนใจขณะเข้าร่วมกิจกรรมโครงการสูงกว่าผู้ที่มีการศึกษาในระดับชั้นมัธยมศึกษา และพบว่ามีความเชื่อและความสนใจที่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ ๐.๐๕

             การศึกษาความเชื่อและความสนใจในการปฏิบัติธรรมจำแนกตามตัวแปรอาชีพ พบว่าผู้มีอาชีพต่างกันมีความเชื่อและความสนใจก่อนเข้าร่วมกิจกรรมโครงการ  ความเชื่อและความสนใจขณะเข้าร่วมกิจกรรมโครงการที่และความเชื่อและความสนใจในกิจกรรมการปฏิบัติธรรมที่แตกต่างกันอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ ๐.๐๕

             การศึกษาปัญหาข้อเสนอแนะและอุปสรรคในการสร้างความเชื่อและความสนใจในการปฏิบัติธรรมของผู้สวดสาธยายพระไตรปิฎก ณ วัดไร่เกาะต้นสำโรง พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เตรียมตัวและวัตถุทานเพื่อเข้าร่วมกิจกรรมโครงการไม่ทัน ไม่มีโอกาสได้ชักชวนญาติ มิตรสหาย เข้าร่วมโครงการ แม้ว่าต้องการสมัครเข้าร่วมกิจกรรมโครงการทันทีก็ตาม ดังนั้น ผู้เกี่ยวข้องในวัดไร่เกาะต้นสำโรง จึงควรจัดเตรียมแผนประชาสัมพันธ์ให้ทั่วถึง มีเวลาเพียงพอสำหรับการเตรียมความพร้อมของผู้ประสงค์เข้าร่วมกิจกรรมในโครงการปฏิบัติธรรม

             การศึกษาความพึงพอใจเกี่ยวกับโครงการพบว่า กลุ่มตัวอย่างรู้สึกไม่ค่อยพอใจเมื่อมีบุคคลอื่นขัดจังหวะหรือมีเหตุให้ต้องหยุดสวด จนต้องกำหนดจิตใจให้มั่นคง และอ่านบทสวดสาธยายให้ทันทุกอักขระ จึงสามารถคลายวิตกกังวล ไม่ฟุ้งซ่าน และยังพบว่ากลุ่มตัวอย่างที่มีการศึกษาระดับประถมศึกษามีความเชื่อและความสนใจขณะเข้าร่วมกิจกรรมโครงการที่สูงกว่าผู้มีการศึกษาระดับปริญญาตรีหรือสูงกว่า

ดาวน์โหลด

 

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕