บทคัดย่อ
วิทยานิพนธ์เล่มนี้ มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ เพื่อศึกษา ธาตุ ในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท เพื่อศึกษาการเจริญวิปัสสนาภาวนาในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท และเพื่อศึกษาการพิจารณาธาตุในการเจริญวิปัสสนาภาวนา โดยการศึกษาข้อมูลจากคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท คือ พระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา และคัมภีร์อื่น ตลอดจนตำราวิชาการอื่นที่เกี่ยวข้องนำมารวบรวมเรียบเรียง บรรยายเชิงพรรณนา นำเสนอผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบแก้ไข ตามคำแนะนำ จากการศึกษาพบว่า
คำว่า “ธาตุ” มีความหมายว่า “ทรงไว้” มีความหมายว่า “ไม่สลายไป” มีความหมายว่า “กำหนดได้” ทั้ง ๓ ความหมายนี้เนื่องกัน ถ้ามัน ทรงตัวอยู่ได้ มันจึงไม่สลาย เมื่อมันทรงตัวอยู่อย่างไม่สลาย มันจึงเป็นสิ่งที่กำหนดได้ ว่าอะไรเป็นอะไร รวมความ ทั้ง ๓ ความหมาย มันก็เป็นคำว่า “ธาตุ” คือ สิ่งที่ที่ทรงตัวอยู่ไม่สลายไป มีลักษณะที่อาจกำหนดว่า เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ถ้าจะให้นิยามสั้นที่สุด คำว่า “ธาตุ” นี้ แปลว่าทรงไว้ ทรงตัวเอง ก็ได้ ทรงสิ่งอื่น ก็ได้ ถูกสิ่งอื่นทรงไว้ ก็ได้ เรียกว่าธาตุทั้งสิ้น ธาตุ จึงมีมาก มีครบทุกอย่าง ทุกสิ่งทุกอย่างเรียกว่า“ธาตุ”
จากการศึกษาการเจริญวิปัสสนาภาวนาพบว่า หลักการเจริญวิปัสสนาที่มุ่งสู่พระนิพพาน มี ๒ แนวทาง ๑) การเจริญสมถกรรมฐานเป็นบาทฐานเบื้องต้น หรือ การปฏิบัติตามหลักสมถยานิก โดยนำเอาธาตุ อย่างใดอย่างหนึ่งมาเป็นอารมณ์กรรมฐาน ๒) การเจริญวิปัสสนาล้วน ๆ หรือสุทธวิปัสสนายานิก อันหมายถึง วิปัสสนาล้วน ๆ เป็นยาน ผู้ปฏิบัติวิปัสสนายังไม่ได้ฌานสมาบัติมาก่อน เทคนิคของทั้ง ๒ แนวทางมีจุดมุ่งหมายเดียวกัน คือ ผู้เจริญภาวนาดำเนินไปสู่มรรค ผล พระนิพพาน
จากการศึกษาการพิจารณาธาตุในการเจริญวิปัสสนาพบว่า พระพุทธศาสนา ได้นำธาตุมาเป็นเครื่องมือในทางศาสนาเพื่อใช้สอนกรรมฐาน ให้โยคีได้ฝึกหัดพัฒนาตน ใช้ฝึกจิตให้เกิดสมาธิ ธาตุก็ คือ สิ่งที่นำมาให้จิตกำหนด เพื่อชักนำให้เกิดสมาธิ ธาตุจึงจัดว่าเป็นเครื่องมือ หรือเป็นกลอุบายวิธีเหนี่ยวนำจูงใจให้เกิดสมาธิ ดังนั้นคุณค่าของธาตุ ในมุมมองของพระพุทธศาสนา จึงเป็นคุณค่าในฐานะที่เป็นอุปกรณ์เครื่องมือ เป็นคุณค่าทางบทบาทหน้าที่ของการนำไปใช้งาน เพื่อให้จิตคลายความยึดมั่นถือมั่นในตัวตน การฝึกฝน พัฒนาตน ทดลองเชิงประจักษ์ ก่อให้เกิด ศีล สมาธิ ปัญญา บรรลุ มรรค ผล นิพพาน
ดาวน์โหลด
|