บทคัดย่อ
วิทยานิพนธ์เรื่องนี้ มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการคือ เพื่อศึกษาหลักการเจริญวิปัสสนาภาวนาในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท เพื่อศึกษาชีวประวัติ ผลงานและแนวคำสอนการเจริญวิปัสสนาภาวนา ของพระราชภาวนาวราจารย์ (บุญมา ปุญฺญาภิรโต) และเพื่อศึกษาความสอดคล้องในการสอนเจริญวิปัสสนาภาวนาตามแนวคำสอน ของพระราชภาวนาวราจารย์ (บุญมา ปุญฺญาภิรโต) กับคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท โดยการศึกษาข้อมูลจากคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท คือพระไตรปิฎก อรรถกถา ฏีกา และคัมภีร์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่นคัมภีร์วิสุทธิมรรคเป็นต้น แล้วนำมาเรียบเรียงบรรยายเชิงพรรณา ตรวจสอบโดยผู้เชี่ยวชาญ และทำการสรุปผล
จากการศึกษาพบว่า หลักการเจริญวิปัสสนาภาวนาในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท
เป็นการปฏิบัติเพื่อให้เข้าถึงตัววิปัสสนา หรือ ปัญญาที่เห็นจริงเห็นแจ้งในรูปนาม เป็นอธิปัญญาโดยอาศัยหลักการกำหนดรู้ใน สติปัฏฐาน ๔ เป็นเครื่องมือ และการจะเข้าให้ถึงอธิปัญญาดังกล่าวได้
ต้องผ่านลำดับความบริสุทธิ์แห่งจิตหรืออธิจิตต ที่เป็นสมาธิอันยิ่ง และจุดเริ่มต้นก่อนที่จะส่งให้ถึง
อธิจิตตได้ก็ต้องผ่านลำดับจากการมีศีลที่บริสุทธิ์หรืออธิศีล จนถึงอธิปัญญา เป็นการปฏิบัติเนื่องด้วยหลักไตรสิกขา
ชีวประวัติผลงานและคำสอนการเจริญวิปัสสนาภาวนา ของพระราชภาวนาวราจารย์
(บุญมา ปุญฺญาภิรโต) พบว่าบรรพชาเป็นสามเณรเมื่ออายุ ๑๓ ปี ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดชัยภูมิพิทักษ์ (ผาเกิ้ง) และเจ้าคณะจังหวัดชัยภูมิ คำสอนพื้นฐานพระราชภาวนาวราจารย์ (บุญมา ปุญฺญาภิรโต) สอนให้ดำรงอยู่ในศีล สมาธิ และปัญญา ส่วนคำสอนในการเจริญวิปัสสนาภาวนา เกี่ยวเนื่องด้วยการปฏิบัติในไตรสิกขาอันยิ่ง คือ อธิศีล อธิจิตต และอธิปัญญา ความเห็นที่ชอบ ถูกต้อง และบริสุทธิ์ เน้นให้ตามกำหนดรู้ตามอาการ สภาวธรรมปัจจุบันที่เป็นไปในกาย ด้วยสติสัมปชัญญะในอิริยาบถใหญ่และอิริยาบถย่อย โดยไม่ต้องมีคำบริกรรม แต่ให้ตามกำหนดรู้อยู่ทุกขณะให้ได้มาก ๆ ให้มีสติสมาธิตามรู้กำหนดรู้ให้เท่าทันในอาการเคลื่อนไหวในอิริยาบถต่าง ๆ ของกาย และอารมณ์ความรู้สึกที่เกิดกับจิต จนกระทั่งเกิดสัมมาทิฏฐิ มีสติปัญญาในที่สุด
ศึกษาความสอดคล้องในการเจริญวิปัสสนาภาวนาตามแนวคำสอนของ พระราชภาวนาวราจารย์
(บุญมา ปุญฺญาภิรโต) กับหลักการในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท พบว่า หลักการสอนการเจริญวิปัสสนาภาวนาของพระราชภาวนาวราจารย์ (บุญมา ปุญฺญาภิรโต) เป็นไปตามหลักการของวิธีการสอนในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท ตามหลักการกำหนดรู้ใน สติปัฏฐาน ๔ อันมีกาย เวทนา จิต และธรรม โดยมีหลักไตรสิกขา เป็นหลักสำคัญร่วมด้วย ซึ่งมีปรากฏในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท คือ พระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา ปกรณ์วิเสส ตำราและหนังสือที่เกียวข้อง
ดาวน์โหลด
|