บทคัดย่อ
สารนิพนธ์นี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาหลักการลงโทษภิกษุผู้ละเมิดสิกขาบทในพระพุทธศาสนาเถรวาทตามหลักอธิกรณ์ วิธีระงับอธิกรณ์ และหลักการลงโทษผู้กระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา และเพื่อศึกษาเปรียบเทียบหลักการลงโทษผู้กระทำผิดวินัยในพุทธศาสนาเถรวาทกับหลักการลงโทษผู้กระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เป็นการศึกษาวิจัยเชิงเอกสาร โดยการศึกษาพระไตรปิฎก เอกสารวิชาการทางพระพุทธศาสนา และงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง ด้วยวิธีพรรณาวิเคราะห์
จากการศึกษาพบว่า หลักการลงโทษผู้กระทำผิดในพุทธศาสนาเถรวาทสมัยพุทธกาลนั้น
อธิกรณ์และวิธีระงับอธิกรณ์เป็นวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการจัดการความขัดแย้งในแง่ของพระวินัยและเป็น
การระงับความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสังคมสงฆ์ อธิกรณ์แบ่งออกเป็น ๔ ประเภท และวิธีระงับอธิกรณ์
แบ่งออกเป็น ๗ ประเภท
การศึกษาเปรียบเทียบหลักการลงโทษผู้กระทำผิดในพุทธศาสนาเถรวาทกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาและประมวลกฎหมายอาญา ในประเด็นอธิกรณ์และวิธีระงับอธิกรณ์พบว่ามีความเหมือนกันและความแตกต่างกัน ๔ ประการคือ ๑) กระบวนการฟ้อง ๒) กระบวนการพิจารณา ๓) กระบวนการพิพากษา และ ๔) กระบวนการระงับโทษ
สำหรับการลงโทษผู้กระทำผิดที่เหมาะสมและยุติธรรมกับสังคมสงฆ์และสังคมไทย พบว่าอธิกรณ์และวิธีระงับอธิกรณ์เป็นการออกแบบที่มีเป้าหมายเพื่อ “ป้องกัน” “ป้องปราม” และ “ปราบปราม” อธิกรณ์ที่จะเกิดขึ้น กำลังเกิดขึ้นและเกิดขึ้นแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งรูปแบบของการระงับอธิกรณ์แต่ละชุดวิธีนั้นมุ่งตรงไปที่เป้าหมายใหญ่นั่นก็คือ “ความสันติแห่งสังคมสงฆ์หรือสังฆสามัคคี ดังนั้นหลักการลงโทษผู้กระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญาและประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาจึงสมควรอย่างยิ่งที่ต้องนำหลักการลงโทษผู้กระทำผิดในพุทธศาสนาเถรวาทมาประยุกต์ใช้ จะทำให้เกิดความโปร่งใส ยุติธรรม เที่ยงธรรม และเกิดสันติสุขแก่สังคมโดยรวมต่อไป
ดาวน์โหลด
|