บทคัดย่อ
สารนิพนธ์เรื่องนี้ มีวัตถุประสงค์ ๒ ประการ คือ ๑) เพื่อศึกษาประวัติ และ ความเชื่อในพิธีกรรมการบูชาปรางค์กู่แก้ว ๒) เพื่อศึกษาคุณค่าของความเชื่อที่ปรากฏในพิธีกรรมการบูชาปรางค์กู่แก้วของชาวพุทธอำเภอกู่แก้ว จังหวัดอุดรธานี ผลการศึกษาพบว่า ปรางค์กู่แก้ว เป็น ปราสาทขอม ประเภท อโรคยาศาล สร้างในพุทธศตวรรษ ที่ ๑๘ สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ในระหว่าง พ.ศ. ๑๗๒๔-พ.ศ.๑๗๖๑ เมื่ออาณาจักรเขมรเสื่อมลง ลาวล้านช้าง ก็ขยายอิทธิพลเข้าครอบครองดินแดนอีสานรวมถึงพื้นที่บริเวณนี้ มีการสร้างธาตุเจดีย์อิฐแบบศิลปกรรมล้านช้าง จำนวน ๓ องค์ ทับซากปราสาทประธานและบรรณาลัย ปรางค์กู่แก้ว กลายเป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมทางพุทธศาสนา หลายร้อยปี จนได้รับวิสุงคามสีมา ในปี พ.ศ. ๒๔๖๗ ชื่อว่า วัดกู่แก้ว ต่อมาในปีระหว่าง พ.ศ. ๒๔๙๒ พระบุญมี สิริธร เจ้าอาวาส ได้พาชาวบ้านจัดหาไม้เนื้อแข็งมาก่อสร้าง อาคารโถง(ศาลา) จำนวน ๑ หลัง ทับซากธาตุเจดีย์ ๒ องค์ จึงคงเหลือเพียงองค์เดียวในปัจจุบัน
คนชาวอำเภอกู่แก้วยึดมั่นในหลักพระพุทธศาสนา เชื่อในเรื่อง กัมมสัทธา วิปากสัทธา กัมมัสสกตาสัทธา และ ตถาคตโพธิสัทธา ปฏิบัติตนในการให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา และเชื่อว่า องค์หลวงปู่กู่แก้ว คือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่สถิตอยู่ภายในปรางค์กู่แก้ว จะคอยปกปักรักษา ดลบันดาลความสุข ความสำเร็จ แก่ชาวอำเภอกู่แก้ว และ มีความเชื่อเกี่ยวกับการขอให้ปรางค์กู่แก้ว ช่วยเหลือ ในเรื่องที่เกี่ยวกับ การเกิด การเจ็บป่วย การทำงาน การสาบาน การบนบาน(บ๋า) เมื่อได้รับความสมหวังตามที่ตนปรารถนาจึงจะมีพิธีกรรมการบูชาปรางค์กู่แก้ว เช่น การแก้บน(ปง) ด้วยสิ่งของ เงินทอง ปล่อยสัตว์สี่เท้า จำพวก เต่า ปล่อยนกปล่อยปลา และถวายบั้งไฟจุดบูชา ซึ่งการบูชาข้างต้น เรียกว่า อามิสบูชา นอกจากนั้น ชาวอำเภอกู่แก้ว ยังนิยมทำบุญกุศล ด้วยการ ให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา ร่วมเวียนเทียนวันสำคัญ และเข้าฝึกปฏิบัติธรรม อยู่เนืองๆ
งานประเพณีบุญเดือนหก(บุญบั้งไฟ)ของอำเภอกู่แก้ว ซึ่งตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ของทุกปี ชาวอำเภอกู่แก้ว อำเภอใกล้เคียง และประชาชนทั่วสารทิศ ที่ศรัทธาในความศักดิ์ของปรางค์กู่แก้ว จะเดินทางมาร่วมงานทำบุญ และถือโอกาสมาทำการแก้บน (ปง) ซึ่งคนทั้งหลายเชื่อว่า การแก้บน(ปง)ด้วย การจุดบั้งไฟถวายบูชา จะทำให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่สถิตในปรางค์กุ่แก้ว(หลวงปู่กู่แก้ว) ชอบมากที่สุด อันมีผลต่อด้านจิตใจของผู้ทำการบูชาอย่างดียิ่ง
คุณค่าของความเชื่อ และพิธีกรรมการบูชาปรางค์กู่แก้ว ของชาวอำเภอกู่แก้ว จังหวัดอุดรธานี นับว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งต่อวิถีชีวิตของคนชาวอำเภอกู่แก้ว เพราะความเชื่อและพิธีกรรมที่ได้กระทำด้วยจิตใจอันเลื่อมใสในพุทธศาสนา ต่อปรางค์กู่แก้ว จึงก่อให้เกิดความมั่นคงทางเศรษฐกิจ การเมือง การปกครอง ประเพณี และ วัฒนธรรม นอกจากนั้น ยังใช้เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ เป็น ศูนย์อบรมปฏิบัติธรรม เพื่อปลูกจิตสำนึกที่ดีแก่เยาวชน ประชาชนและพุทธ ศาสนิกชนทั่วไป ให้เป็นผู้มีจิตใจน้อม เข้าถึงซึ่ง พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ และยึดถือไว้เป็นที่พึ่งอันประเสริฐของชีวิตตลอดไป
ดาวน์โหลด
|