บทคัดย่อ
สารนิพนธ์เรื่องการศึกษาทุกข์และการดับทุกข์ในคัมภีร์อรรถกถาธรรมบท มีวัตถุประสงค์ ๒ ประการ คือ เพื่อศึกษาคำสอนเรื่องทุกข์ในคัมภีร์อรรถกถาธรรมบท และเพื่อวิเคราะห์ทุกข์และการดับทุกข์ในคัมภีร์อรรถกถาธรรมบท การวิจัยครั้งนี้ เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพด้วยการศึกษาข้อมูลจากเอกสาร บทความ และงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง และนำเสนอผลการศึกษาด้วยการเขียนเชิงพรรณนา
ผลการศึกษาพบว่า ความทุกข์ เป็นสภาพที่ทนได้ยาก แย้งต่อความสุข ถูกบีบคั้นอยู่ตลอดเวลาทั้งกาย และใจ ด้วยภาวะที่เป็นไปตามธรรมชาติที่ครอบคลุมสรรพสิ่ง ไม่สามารถที่จะรักษาสภาพเดิมไว้ได้ เนื่องจากสิ่งต่างๆ เหล่านี้ไม่มีความเป็นใหญ่ของตนเอง ต้องอาศัยปัจจัยอื่นเกิดขึ้นในรูปของกระแสต่อเนื่อง การยึดมั่นในขันธ์ห้าจึงมีสภาพเป็นที่ตั้งแห่งทุกข์โดยแบ่งออกเป็น ๒ ประเภท คือทุกข์ทางกาย และทุกข์ทางใจ พุทธศาสนาเน้นทุกข์ทางใจว่า เป็นต้นตอของความทุกข์ทั้งหมดโดยมีอวิชชาเป็นเหตุให้เกิดตัณหา การจะดับทุกข์ได้คือต้องดับตัณหาโดยต้องดำเนินตามหลักอริยมรรคซึ่งรวมลงในไตรสิกขาคือ ศีล สมาธิ และปัญญา
การศึกษาทุกข์และการดับทุกข์ในคัมภีร์อรรถกถาธรรมบทผ่านเรื่องราวบุคคลต่างๆทั้งพระพุทธเจ้า พระสาวก สาวิกา อุบาสก อุบาสิกา และบุคคลทั่วไปที่เกี่ยวข้องด้วยพระพุทธเจ้าทั้งในชาติปัจจุบัน อดีตชาติ แสดงให้เห็นกระบวนการเกิดทุกข์ สาเหตุแห่งความทุกข์ ทางดับทุกข์ และรูปแบบ แบบอย่างในการดำเนินชีวิตที่นำไปสู่การดับทุกข์ โดยกระบวนการแห่งทุกข์ และกระบวนการดับทุกข์ในคัมภีร์อรรถกถาธรรมบทมีหลักธรรมที่นำไปสู่การสิ้นทุกข์สอดคล้องกับหลักการในอริยสัจ ๔ คือหลักไตรสิกขา จึงอาจสรูปได้ว่า การอธิบายหลักคำสอนเรื่องทุกข์และการดับทุกข์ในคัมภีร์อรรถกถาธรรมบท คือ การอธิบายหลักคำสอนเรื่องอริยสัจ ๔ อันเป็นหลักธรรมที่พระพุทธองค์ทรงค้นพบผ่านบุคคลต่างๆ ดังกล่าว ดังนั้น คัมภีร์อรรถกถาธรรมบทจึงเป็นคัมภีร์ที่เหมาะแก่การศึกษาคำสอนว่าด้วยความทุกข์และการดับทุกข์แบบบุคลาธิษฐาน ทำให้เข้าใจคำสอนได้ง่ายขึ้น เพื่อการเข้าใจทุกข์ และกำจัดทุกข์เข้าสู่บรมสุขต่อไป
ดาวน์โหลด
|