บทคัดย่อ
สารนิพนธ์เรื่องนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาความตายและวิธีการตายของมนุษย์ตามหลักมรณสติในพระพุทธศาสนา และเพื่อวิเคราะห์การเผชิญความตายอย่างสงบตามหลักมรณสติในพระพุทธศาสนา เถรวาท การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ โดยศึกษาจากเอกสาร หนังสือและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
ผลการศึกษาพบว่า ความตาย ก็คือความดับหรืออาการดับของขันธ์ ๕ หรือกายกับจิต ประเภทของการตายมี ๒ คือ กาลมรณะ การตายเมื่อถึงเวลาถึงที่ตาย และอกาลมรณะ การตายเมื่อยังไม่ถึงเวลา สาเหตุการตายในลักษณะต่างๆ ของบุคคลและสัตว์ทั้งหลายนั้นเราจะพบว่าก็เนื่องด้วยอำนาจของผลกุศลกรรมและอกุศลกรรมของแต่ละบุคคล ส่วนวิธีการเจริญมรณสติโดยง่ายๆ คือ การพิจารณาทุกเวลาทุกลมหายใจว่าเราต้องตายแน่ๆ สามารถเจริญได้ทุกวันและในโอกาสใดก็ได้ ซึ่งมนุษย์มีท่าทีที่ปฏิบัติต่อความตายเป็น ๓ ระดับด้วยกัน คือ ๑. บุคคลทั่วไป ก็จะระลึกนึกถึงความตายด้วยความหวาดหวั่นพรั่นกลัวต่อความตาย ๒. บุคคลผู้มีการศึกษา ก็จะระลึกถึงความตายโดยเป็นเครื่องเตือนใจไม่ให้ประมาท ให้รีบเร่งประกอบคุณงามความดี และ ๓. บุคคลผู้มีปัญญา คือ ให้รู้เท่าทันความตายเป็นอยู่ด้วยปัญญากระทำการไปตามเหตุผล
การพิจารณามรณสติเป็นวิธีพิจารณาให้เห็นความจริงในชีวิตทั้ง ๕ ประการนี้ คือ ความแก่ ความเจ็บ ความชรา ความตายความพลัดพราก และมีกรรมเป็นเครื่องกำหนดชีวิตของคน และสัตว์ ย่อมมีกับทุกชีวิต การปฏิบัติมรณสติเป็นประโยชน์ในการพัฒนาจิต คือการไม่หลงตาย คนทั่วไปเมื่อนาทีสุดท้ายของชีวิตมาถึง มักสูญเสียการควบคุมตัวเอง เมื่อสูญเสียการควบคุมตัวเองก็จึงดับจิตไปโดยขาดสติหรือโดยภาวะจิตที่เศร้าหมอง ทุรนทุราย เป็นทุกข์ มีห่วงกังวลปนไปกับจิตดวงสุดท้าย จิตที่ดับไปโดยขาดสตินั้นไม่อาจรับประกันภพใหม่ได้ว่า จะไปบังเกิดในสุคติภพ การเผชิญความตายตามหลักมรณสตินั้นถือว่าได้เตรียมตัวก่อนตาย คือ เอาสติน้อมระลึกถึงความตายอันมีแก่ตนและคนอื่น ให้ตั้งมั่นอยู่กับคุณความดี ให้ดำรงชีวิตด้วยสติปัญญา ซึ่งเป็นจิตใจที่มีพลังดับความเร่าร้อนหวาดกลัวนานาประการได้ จิตใจที่ไม่ตกอยู่ในอำนาจของกิเลสฝ่ายต่ำ ย่อมเป็นจิตใจที่สะอาดบริสุทธิ์หลุดพ้นจากบ่วงหมู่มาร สามารถดับกิเลสได้ มีสติรู้เท่าทัน ไม่หวาดหวั่นต่อความตายอย่างสงบ ทำให้มีความสุขในชีวิตประจำวันได้
ดาวน์โหลด
|