บทคัดย่อ
การวิจัยเรื่อง การศึกษาพระไตรปิฎกฉบับสำหรับประชาชนของสุชีพ ปุญญานุภาพ ในเชิงพัฒนาการ มีวัตถุประสงค์เพื่อ ศึกษาความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับพระไตรปิฎก และศึกษาพระไตรปิฎกฉบับสำหรับประชาชนของสุชีพ ปุญญานุภาพในเชิงพัฒนาการ การวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพโดยการศึกษาค้นคว้าข้อมูลจากเอกสาร พระไตรปิฎกฉบับประชาชนของ สุชีพ ปุญญานุภาพ หนังสือ ตำรา และงานวิจัยที่เกี่ยวข้องแล้วนำเสนอผลการวิจัยในเชิงพรรณนาวิเคราะห์
จากการศึกษาความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับพระไตรปิฎกนั้น พบว่าการสืบทอดพระธรรมวินัยไม่ได้มีการจดบันทึกแต่แรกเพียงแต่เป็นการท่องจำ ซึ่งเรียกว่า “มุขปาฐะ” ยังไม่มีคำว่า “พระไตรปิฎก” หลักธรรมไม่มีการรวบรวมหรือจัดเป็นหมวดหมู่ พระพุทธเจ้าจึงทรงแนะนำให้พระสารีบุตรรวบรวมเป็นหมวดหมู่เพื่อป้องกันมิให้เกิดความขัดแย้งในหมู่พระสาวก และมีการสังคายนาอีกหลายครั้งในประเทศที่นับถือศาสนาพุทธ ประเทศไทยก็มีการชำระและตีพิมพ์พระไตรปิฎกหลายครั้ง ในรัชกาลปัจจุบันโปรดให้มีการสังคายนาพระธรรมวินัย และมีผลงานการแปลพระไตรปิฎกและคำอธิบายจากภาษาบาลีเป็นภาษาไทย คือของมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยจำนวน ๔๕ เล่ม และของมหามกุฏราชวิทยาลัยอีก ๙๑ เล่ม
ส่วนผลการศึกษาพระไตรปิฎกฉบับสำหรับประชาชนของสุชีพ ปุญญานุภาพ ในเชิงพัฒนาการ ได้ทราบว่า ลักษณะการเขียนเป็นการย่อความให้เหลือเพียง ๑ ใน ๑๐ โดยตัดสำนวนที่ซ้ำและไม่จำเป็นออกคงไว้แต่หลักธรรมหรือข้อความที่ประชาชนทั่วไปพอจดจำได้ รูปแบบการเขียนมีการจัดลำดับเนื้อหาที่เข้าใจง่าย รูปแบบการนำเสนอในแต่ละภาคเริ่มด้วยข้อความหลักตามด้วยเนื้อหาย่อย และลักษณะการนำเสนอ มีลักษณะการเสนอเนื้อหาแบบบรรยายให้เข้าใจในสังคมวิทยา มานุษยวิทยา โบราณคดี และประวัติศาสตร์ เสนอบันทึกความเห็นของชาวต่างประเทศเพราะมีข้อความภาษาอังกฤษที่ได้แปลไว้ในพระไตรปิฎก มีคำทับศัพท์โดยไม่ต้องอธิบายความหมาย หรือถ้าได้อธิบายไว้แล้วในตอนต้นก็จะไม่อธิบายซ้ำอีก
ดาวน์โหลด |