บทคัดย่อ
งานวิจัยเรื่อง “รูปแบบของระบอบการปกครองที่พึงประสงค์ตามหลักพุทธธรรม” มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการคือ ๑) เพื่อวิเคราะห์แนวคิดพื้นฐานเกี่ยวกับระบอบการปกครองทางรัฐศาสตร์ ๒) เพื่อวิเคราะห์แนวคิดทางการเมืองการปกครองในพระพุทธศาสนาเถรวาท และ ๓) เพื่อเสนอรูปแบบของระบอบการปกครองที่พึงประสงค์ตามหลักพุทธธรรม
งานวิจัยฉบับนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ โดยใช้วิธีการเชิงพรรณนา และมีลักษณะเป็นพุทธธรรมเชิงประยุกต์
ผลการวิจัยพบว่า ๑) รูปแบบการปกครองทางรัฐศาสตร์มีความซับซ้อน และต้องอาศัยองค์ประกอบต่าง ๆ เป็นพื้นฐาน การรักษารูปแบบของระบอบการปกครองจะต้องมีกระบวนการทางการเมืองการปกครองที่สอดคล้องกับเป้าหมายของระบอบการปกครอง ๒) พระพุทธศาสนาเถรวาทให้ความสำคัญแก่หลักการคือธรรม มากกว่าให้ความสำคัญแก่รูปแบบของระบอบการปกครอง เนื่องจากธรรมเป็นปัจจัยสำคัญที่ผู้ปกครองยอมรับ ยิ่งไปกว่านั้น แนวคิดเรื่องอำนาจอันชอบธรรม สิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาค และหลักนิติธรรมยังสอดคล้องกับหลักธรรมคำสอนในพระพุทธศาสนาอีกด้วย ๓) รูปแบบของระบอบการปกครองที่พึงประสงค์ตามหลักพุทธธรรมเป็นผลจากการบูรณาการหลักการในระบอบประชาธิปไตยเข้ากับหลักพุทธธรรม เรียกว่า "ธัมมิกประชาธิปไตย” อันประกอบด้วยหลักการสำคัญได้แก่ อำนาจอันชอบธรรม สิทธิเสรีภาพภายใต้ขอบเขตศีลธรรมอันดีงาม ความเสมอภาค และหลักนิติธรรม ในระบอบการปกครองรูปแบบนี้ผู้ปกครองต้องมีคุณภาพ ผู้ปกครองกับผู้ใต้ปกครองสัมพันธ์กันโดยหน้าที่ โครงสร้างทางการเมืองการปกครองควรมีธรรมเป็นแกนหลัก และจุดมุ่งหมายทั้งระดับโลกิยธรรมและระดับโลกุตรธรรมควรจะดำเนินไปสู่ธรรม โดยธรรม และเพื่อธรรม
ดาวน์โหลด |