หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระกวีวงศ์ (อิ่ม สารโท/กำเหนิดดี)
 
เข้าชม : ๒๑๐๔๔ ครั้ง
ธรรมสมังคีของทศบารมีเป็นปัจจัยเกื้อหนุนในการตรัสรู้และการบำเพ็ญพุทธกิจของพระพุทธเจ้า
ชื่อผู้วิจัย : พระกวีวงศ์ (อิ่ม สารโท/กำเหนิดดี) ข้อมูลวันที่ : ๐๘/๐๓/๒๐๑๗
ปริญญา : พุทธศาสตรดุษฎีบัญฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระสุธีธรรมานุวัตร
  ทรงวิทย์ แก้วศรี
  สมิทธิพล เนตรนิมิตร
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๕๕๖
 
บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

วิทยานิพนธ์เรื่อง  ธรรมสมังคีของทศบารมีเป็นปัจจัยเกื้อหนุนในการตรัสรู้และการบำเพ็ญพุทธกิจของพระพุทธเจ้า  มีวัตถุประสงค์ ๔ ประการ คือ (๑) เพื่อศึกษาทศบารมีในพระพุทธศาสนาเถรวาท  (๒) เพื่อศึกษาลักษณะแห่งธรรมสมังคีของทศบารมี (๓) เพื่อวิเคราะห์ธรรมสมังคีของทศบารมีของพระโพธิสัตว์เป็นปัจจัยเกื้อหนุนต่อการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า และ (๔) เพื่อวิเคราะห์ธรรมสมังคีของทศบารมีเป็นปัจจัยเกื้อหนุนต่อการบำเพ็ญพุทธกิจของพระพุทธเจ้า

ผลการวิจัยพบว่า

บารมี  หมายถึงคุณสมบัติเป็นเครื่องให้ถึงฝั่ง หรือคุณสมบัติที่ทำให้ยิ่งใหญ่  ในที่นี้หมายถึงความเป็นพระพุทธเจ้า บารมี มี ๑๐ ประการ หรือ ทศบารมี เป็นพุทธการกธรรมคือธรรมที่กระทำบุคคลให้เป็นพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าทุกพระองค์  ก่อนที่จะได้ตรัสรู้พระสัพพัญญุตญาณ ต้องได้บำเพ็ญบารมีทั้ง ๑๐ นี้มานับกัปไม่ถ้วน  บารมี ๑๐ หรือทศบารมี ได้แก่  ทาน ศีล เนกขัมมะ ปัญญา วิริยะ ขันติ  สัจจะ อธิษฐาน เมตตา และ อุเบกขา บารมีนั้นมี ๓ ขั้นคือบารมีอุปบารมี และปรมัตถบารมี รวมเรียกว่า บารมี ๓๐ ทัศ ในการบำเพ็ญทศบารมีเพื่อให้บรรลุถึงความเป็นพระพุทธเจ้า พระโพธิสัตว์จะต้องบำเพ็ญบารมีแต่ละข้อให้ครบถ้วนบริบูรณ์ แม้แต่ในพระชาติเดียวกันที่เสวยก็บำเพ็ญบารมีหลาย ๆ ข้อไปพร้อมกัน เพียงแต่ว่าข้อใดจะยิ่งหรือหย่อนกว่ากันเท่านั้น ซึ่งเรียกว่าเป็นธรรมสมังคี ทั้งนี้ โดยเน้นการบำเพ็ญบารมีตามลำดับทศชาติชาดก เริ่มจาก พระเตมีย์ทรงบำเพ็ญเนกขัมมบารมี พระมหาชนกทรงบำเพ็ญวิริยบารมี พระสุวรรณสามทรงบำเพ็ญเมตตาบารมี พระเนมิราชทรงบำเพ็ญอธิษฐานบารมี พระมโหสถทรงบำเพ็ญปัญญาบารมี พระภูริทัตทรงบำเพ็ญศีลบารมี พระจันทกุมารทรงบำเพ็ญขันติบารมี พระ นารทะทรงบำเพ็ญอุเบกขาบารมี พระวิธุระทรงบำเพ็ญสัจจบารมี และพระเวสสันดรทรงบำเพ็ญทานบารมี โดยแจกแจงว่าพระโพธิสัตว์แต่ละพระองค์ตามทศชาติชาดก บำเพ็ญบารมีนั้น ๆ อย่างไร

การบำเพ็ญทศบารมีของพระโพธิสัตว์เป็นปัจจัยเกื้อหนุนต่อการตรัสรู้ พอสรุปว่า จริยาวัตรของพระโพธิสัตว์แต่ละองค์ในแต่ละชาติ ต่างก็ได้บำเพ็ญหลายอย่างหลายบารมีไปพร้อม ๆ กัน เพียงแต่ว่าข้อไหนจะถึงพร้อมหรือยิ่งหย่อนกว่ากันมากน้อยแค่ไหนเท่านั้น  ดังเช่นในกรณีการบำเพ็ญบารมีใน ๑๐ พระชาติสุดท้าย แต่ละพระองค์ก็ได้บำเพ็ญมากกว่าหนึ่งบารมี เพียงแต่เน้นบารมีใดบารมีหนึ่งเป็นพิเศษ เช่นพระเวสสันดรเน้นทานบารมี แต่ขณะเดียวกันก็ทรงบำเพ็ญศีลบารมี เนกขัมมบารมี เมตตาบารมี และอุเบกขาบารมี เป็นต้นไว้ด้วย ซึ่งในงานวิจัยนี้ได้ยกพระพุทธดำรัสมาอ้างไว้บางส่วนที่ยกเอาบารมีแต่ละข้อมาเป็นตัวตั้ง และระบุว่าพระโพธิสัตว์ชื่ออะไร บำเพ็ญบารมีข้อนั้นๆ ขณะเดียวกันก็ได้ยกมาอีกปริยายหนึ่งว่าพระโพธิสัตว์ชื่ออะไรบำเพ็ญบารมีขั้นใดไว้ในปุเรชาติ ประการที่สุดได้ยกเอามหาปุริสลักษณะมาแสดงว่าแต่ละลักษณะใน ๓๒ ประการนั้นบังเกิดมีเพราะทรงบำเพ็ญบารมีและกุศลกรรมอันใดไว้ ส่วนการบำเพ็ญทศบารมีเป็นปัจจัยเกื้อหนุนที่ส่งผลในการบำเพ็ญพุทธกิจนั้นมีมากมายสุดพรรณนา จึงได้ยกตัวอย่างมาแสดงเพียงบางบารมี เช่นเมตตาบารมีเมื่อพระเทวทัตวางแผนลอบปลงพระชนม์ชีพของพระพุทธองค์ แต่ก็พ่ายแพ้แก่พระเมตตาบารมี ดังนี้เป็นต้น ที่สำคัญที่สุดคือทศพลญาณ หรือตถาคตพลญาณ ๑๐ คือพระญาณอันเป็นกำลังของพระตถาคต ๑๐ ประการที่ทำให้พระพุทธองค์สามารถบันลือสีหนาทประกาศพระศาสนาให้มั่นคง โดยมีพระคุณบทตามพระพุทธคุณ ๙ อันประกอบด้วยพระปัญญาคุณเป็นส่วนตัว อัตตหิตสมบัติ และพระกรุณาคุณเป็นส่วนแห่งปรหิตปฏิบัติ อันสามารถบำเพ็ญจริยา ๓ คือ โลกัตถจริยา ญาตัตถจริยา และพุทธัตถจริยา ได้อย่างครบถ้วนบริบูรณ์

ดาวน์โหลด

 

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕