บทคัดย่อ
วิทยานิพนธ์เรื่องนี้ มีวัตถุประสงค์ ๓ ข้อ คือ (๑) เพื่อศึกษาวิเคราะห์ประวัติ พัฒนาการ เนื้อหาและคุณค่าของคัมภีร์สีวิชัยชาดก (๒) เพื่อปริวรรตและตรวจสอบชำระคัมภีร์สีวิชัยชาดกจากต้นฉบับบาลีอักษรขอมและภาษาบาลีอักษรล้านนา เป็นภาษาบาลีอักษรไทย (๓) เพื่อแปลคัมภีร์สีวิชัยชาดกเป็นภาษาไทย
ผลการวิจัยพบว่า คัมภีร์สีวิชัยชาดก เป็นชาดกนอกนิบาต ซึ่งรวมอยู่ในปัญญาสชาดก (ชาดก ๕๐ เรื่อง) สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นพระพุทธรักขิต ภิกษุชาวเชียงใหม่เป็นผู้แต่ง เมื่อประมาณช่วงปี ๑๙๗๔–๒๐๖๘ แต่งในเชิงพรรณนาโดยใช้รูปแบบของคัมภีร์ชาดกในพระไตรปิฎกเป็นหลักในการดำเนินเรื่อง
คัมภีร์สีวิชัยชาดกประกอบด้วยเรื่องที่แบ่งเป็นกัณฑ์ ทั้งหมด ๑๗ กัณฑ์ คือ
โพธิสัตตุปปัตติกถา ทารปริเยสนกัณฑ์ เปยยาลกัณฑ์ อาปณการิตกัณฑ์ ลุททกกัณฑ์ นิวัตนกัณฑ์ มหาราชกัณฑ์ นันทเสนกัณฑ์ ยุทธกัณฑ์ หัตถาคตกัณฑ์ สีวิชัยกัณฑ์ หัตถิทานกัณฑ์ วนคตกัณฑ์
กุมารกัณฑ์ (๑) สิเวยยเทวีกัณฑ์ กุมารกัณฑ์ (๒) เทวิทานกัณฑ์ มหาสมาคมกัณฑ์ นครปเวสน-กัณฑ์ และสโมธานกถา
คัมภีร์สิวิชัยชาดกได้กล่าวถึงทานบารมีของพระพุทธเจ้า สมัยที่พระองค์ทรงเสวยพระชาติเป็นพระโพธิสัตว์พระนามว่าสีวิชัยราชกุมาร ผู้แต่งได้พรรณนาความเหมือนเล่านิทาน ประกอบด้วย ๕ เรื่องใหญ่ ในระหว่างนี้ได้แทรกเรื่องเล็ก และในระหว่างเรื่องเล็กได้แทรกเรื่องย่อยเพื่อความต่อเนื่องของเรื่อง ตอนท้ายของคัมภีร์มีลักษณะเป็นพระเวสสันดรชาดก และประชุมชาดก (สโมธาน) เป็นบุคคลร่วมสมัยกับพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน
คัมภีร์สีวิชัยชาดกสะท้อนถึงคตินิยม ความเชื่อเชิงจริยธรรมและศาสนธรรมของคนไทยในสมัยที่แต่ง ทั้งที่เป็นคติความเชื่อค่านิยมของผู้ปกครองและประชาชนอีกด้วย คัมภีร์สีวิชัยชาดกเป็นชาดกสอนธรรมโดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในฐานะกลุ่มชนที่สำคัญในสังคม คือกษัตริย์ เสนาบดี ทหาร เศรษฐี พ่อค้า และนักปราชญ์ จึงนับว่ามีคุณค่าทั้งด้านวรรณคดี คุณค่าด้านวรรณศิลป์ คุณค่าด้านประวัติศาสตร์ และคุณค่าด้านประเทืองสติปัญญา
ดาวน์โหลด |