บทคัดย่อ
วิทยานิพนธ์นี้มีวัตถุประสงค์ ๓ ปะการ คือ (๑) เพื่อศึกษาสถานการณ์ของคนมีทุกข์ตามการวิเคราะห์ของพระพุทธศาสนา (๒) เพื่อศึกษาวิธีคิดเพื่อบรรเทาทุกข์ตามหลักพระพุทธศาสนา และ (๓) เพื่อเสนอรูปแบบวิธีคิดเพื่อบรรเทาทุกข์ตามหลักการของพระพุทธศาสนาสำหรับสังคมปัจจุบัน ทั้งนี้โดยใช้นิพเพธิกสูตร ธัมมจักกัปปวัตนสูตร และมหาสติปัฏฐานสูตร ข้อที่ว่าด้วยทุกขสัจ เป็นกรอบแนวคิดในการวิจัย โดยกำหนดประเด็นของคนที่เกิดมาแล้วประสบทุกข์ ๓ ประการ คือ การพลัดพรากจากสิ่งที่รัก การประสบกับสิ่งที่ไม่รัก และการไม่ได้ในสิ่งที่ปรารถนา เป็นทุกข์
ผลการศึกษาวิจัยสรุปได้ว่า
สถานการณ์ของคนมีทุกข์มี ๓ ประการ คือ พลัดพรากจากสิ่งที่รัก ประสบกับสิ่งที่ไม่รัก และไม่ได้ในสิ่งที่ปรารถนา คนที่อยู่ในสถานการณ์เหล่านี้จะมีผู้มีปัญญามาช่วยแนะนำให้อุบายวิธีคิดจนทำให้คนที่ทุกข์คลายทุกข์ลงได้ ในการศึกษาเรื่องทุกข์ พบว่าทุกข์มี ๒ประการ คือ ความทุกข์ทางกาย และความทุกข์ทางใจ สาเหตุของทุกข์มี ๒ ประการ คือ สาเหตุจากภายนอกที่มากระตุ้นทำให้ทุกข์ และสาเหตุจากภายในจิตใจที่เป็นความเชื่อภายในจิตใจซึ่งสวนทางกับความเป็นจริง สาเหตุของทุกข์ที่แท้จริงคือตัณหา ทำให้คิดไม่มีเหตุผล และอวิชชาทำให้ไม่เข้าใจความเป็นตถตาของโลก หนทางดับทุกข์ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ในที่นี้มุ่งเอาความคิดที่ประกอบด้วยปัญญาเป็นหนทางดับทุกข์
วิธีคิดเพื่อบรรเทาทุกข์ในคัมภีร์พระพุทธศาสนา คือ วิธีคิดเมื่อสิ่งอันเป็นที่รักได้พลัดพรากไปมี ๓๓ วิธี วิธีคิดเมื่อประสบกับสิ่งที่ไม่รักมี ๑๔ วิธี และวิธีคิดเมื่อไม่ได้ในสิ่งที่ปรารถนามี ๘ วิธี เมื่อสังเคราะห์วิธีคิดทั้ง ๓ แล้ว เหลือเพียง ๑๓ วิธี เช่น วิธีคิดเชิงเปรียบเทียบกับคนอื่น เป็นต้น
รูปแบบวิธีคิดเพื่อบรรเทาทุกข์สำหรับสังคมปัจจุบัน มี ๓ รูปแบบ คือ (๑) รูปแบบวิธีคิดเมื่อพลัดพรากจากสิ่งที่รัก (๒) รูปแบบวิธีคิดเมื่อประสบกับสิ่งที่ไม่รัก และ (๓) รูปแบบวิธีคิดเมื่อไม่ได้ในสิ่งที่ปรารถนา ในการคิดแต่ละครั้งจะต้องประกอบด้วยความคิดที่ใช้เหตุผล ความคิดถูกต้องตามจริง ความคิดบวก ความเพียร และสติ
ดาวน์โหลด
|