บทคัดย่อ
วิทยานิพนธ์นี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพมีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ ได้แก่ (๑) เพื่อศึกษาระบบภายในร่างกายมนุษย์ตามแนวพระพุทธศาสนาและตามแนวการแพทย์ (๒) เพื่อศึกษาการจัดดุลยสัมพันธ์ของระบบภายในร่างกายมนุษย์ตามแนวพระพุทธศาสนาและตามแนวการแพทย์ (๓) เพื่อนำเสนอแนวทางการจัดดุลยสัมพันธ์ของระบบภายในร่างกายมนุษย์เชิงพุทธบูรณาการ
ผลการวิจัยพบว่า พุทธชีวทัศน์มององค์ประกอบแห่งชีวิตว่าเป็นองค์รวมที่ประกอบด้วยรูปธรรมและนามธรรมคือรูปนาม และมองร่างกายมนุษย์ว่ามีลักษณะเฉพาะของรูปขันธ์ ธาตุ ๔ และสามัญญลักษณะ โดยมีพัฒนาการตั้งแต่กลละไปจนถึงร่างกายที่เจริญเติบโตสมบูรณ์มีอวัยวะครบถ้วนในที่สุด ก่อเกิดเป็นโครงสร้างของร่างกายอันประกอบไปด้วยระบบภายในร่างกายมนุษย์ตามความสัมพันธ์ระหว่างธาตุ ๖ คือธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ธาตุอากาศ และธาตุวิญญาณ ระบบเหล่านี้มีลักษณะและการทำงานที่แตกต่างกันไปตามธาตุแต่ละธาตุ ส่วนการแพทย์ในวิทยาการสมัยใหม่ก็มีมุมมองที่คล้ายคลึงกันโดยมององค์ประกอบแห่งชีวิตว่าเป็นองค์รวมเช่นเดียวกันโดยร่างกายมนุษย์เป็นผลผลิตที่มาจากวิวัฒนาการอันยาวนาน โดยมีพัฒนาการตั้งแต่ระดับเคมีในร่างกายไปจนถึงระดับของสิ่งมีชีวิต เป็นโครงสร้าง และเป็นระบบอวัยวะภายในร่างกายทั้ง ๑๑ ระบบ มีระบบปกคลุมร่างกาย และระบบกระดูก เป็นต้น
พระพุทธศาสนามองว่าระบบภายในร่างกายมนุษย์มิอาจดำรงอยู่ได้ด้วยตัวเองโดยลำพัง หากแต่ต้องพึ่งพาอาศัยปัจจัยเกื้อกูลทั้งภายในและภายนอกร่างกายในการอุปการะให้ระบบเหล่านั้นสืบต่อได้ตามหลักปฏิจจสมุปบาท เมื่อปัจจัยเหล่านี้สัมพันธ์กันอย่างพอดี ดุลยสัมพันธ์จึงจะเกิดขึ้นได้ ดังนั้น การจัดดุลยสัมพันธ์ของระบบภายในร่างกายมนุษย์ จึงเป็นข้อปฏิบัติที่พอดีต่อปัจจัยเกื้อกูลต่อชีวิตเหล่านั้นตามหลักทางสายกลางซึ่งเกี่ยวเนื่องกับ ๖ องค์ประกอบคือ ลมหายใจเข้าออก มหาภูตรูป อาหารที่กลืนกิน ไฟธาตุ อิริยาบถ และวิญญาณธาตุ ส่วนการแพทย์ในวิทยาการสมัยใหม่มองว่าปัจจัยภายนอกร่างกายคือ อากาศ อาหาร และอุณหภูมิ ฯลฯ มีผลต่อความอยู่รอดของชีวิต ดังนั้นระบบชีวิตจึงต้องรักษาสมดุลพลวัตกับสิ่งแวดล้อมภายนอกซึ่งสอดคล้องกับทฤษฎีภาวะธำรงดุลและทฤษฎีดุลยสัมพันธ์ของการแพทย์ทางหลัก นอกจากนั้น การแพทย์ทางเสริมและทางเลือกมีการจัดดุลยสัมพันธ์ของระบบภายในร่างกายมนุษย์ด้วย ๑๘ วิธีบำบัด มีลมหายใจบำบัดเป็นต้น และมีการแพทย์แผนไทยเป็นที่สุด
แนวทางการจัดดุลยสัมพันธ์ที่สอดคล้องกับการดำรงชีวิตตามหลักความสมดุลสามารถจัดได้ในมิติสัมพันธ์ของดุลยภาพชีวิตทั้ง ๔ ระดับ คือ ดุลยภาพร่างกาย ดุลยภาพพฤติกรรม (ศีล) ดุลยภาพจิตใจ และดุลยภาพปัญญา ตามลำดับ ตามรูปแบบของ “แบบจำลองบาลานซ์: ๖ องค์ประกอบแห่งความสมดุลของระบบภายในร่างกายมนุษย์” ซึ่งประกอบไปด้วยองค์ประกอบสำคัญทั้ง ๖ คือ (๑) มหาภูตรูป (๒) ลมหายใจเข้าออก (๓) อิริยาบถ (๔) ไฟธาตุ (๕) อาหารที่กลืนกิน (๖) วิญญาณธาตุ
ดาวน์โหลด |