หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » เทียน อินทร์แดน
 
เข้าชม : ๒๑๐๔๖ ครั้ง
วิเคราะห์หลักฮวงจุ้ยกับหลักปฏิรูปเทสวาสในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา
ชื่อผู้วิจัย : เทียน อินทร์แดน ข้อมูลวันที่ : ๐๒/๐๓/๒๐๑๗
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระเทพปริยัติเมธี
  พระศรีสมโพธิ
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๕๕๙
 
บทคัดย่อ

                                                                    บทคัดย่อ                                            

การศึกษาวิจัยเรื่อง “วิเคราะห์หลักฮวงจุ้ยกับ หลักปฏิรูปเทสวาส ในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา” นี้มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ  คือ ๑. เพื่อศึกษาหลักฮวงจุ้ย  ๒. เพื่อศึกษาหลักปฏิรูปเทสวาส  ๓. เพื่อวิเคราะห์หลักฮวงจุ้ยกับปฏิรูปเทสวาส การวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงเอกสาร โดยการรวบรวมข้อมูลนำมาวิเคราะห์ และสรุปผลการวิจัยด้วยการพรรณนาความ

ผลการวิจัย พบว่า

 

๑. ฮวงจุ้ยตามรูปคําศัพท์ เป็นภาษาจีนแต้จิ๋ว คำว่า “ฮวง” แปลว่า ลม ส่วน จุ้ย” แปลว่า น้ำ เมื่อรวมคำเป็น ฮวงจุ้ยจึงแปลตามศัพท์ว่า ลมและน้ำ เป็นศาสตร์แห่งการพยากรณ์ของชาวจีนที่เกี่ยวกับการเลือกสถานที่ที่เหมาะสมกับ คนเป็นและ คนตาย โดยยึดหลักความสมดุลของธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมซึ่งสามารถส่งผลต่อชีวิตของมนุษย์ หลักฮวงจุ้ยเป็นศาสตร์ที่กล่าวถึงความสัมพันธ์และผสมกลมกลืนกันระหว่างลมและน้ำ ที่เป็นสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ ได้แก่ขบวนการที่ทำให้เกิดความเป็นไปของธรรมชาติ  การจัดเตรียมภาวะแวดล้อมให้ถูกหลักเกณฑ์ที่ดี  จะอำนวยความสวัสดีให้แก่ผู้ที่มีการปฏิบัติ ซึ่งจะประกอบไปด้วยหลักที่สำคัญ ๔ ประการ คือ ดวงชะตา ทิศทาง ชัยภูมิ  ฤกษ์ยามหรือฤดูกาล หลักฮวงจุ้ยจะต้องมีอุปกรณ์ในการดู คือ เข็มทิศฮวงจุ้ย ไม้บรรทัดฮวงจุ้ย (หลูปังเชียะ) ปฏิทินจีน หรือหนังสือ "แหล่ยิกเท้า"

๒. ปฏิรูปเทสวาส คือ การอยู่ในถิ่นที่เหมาะสม ปรากฏในจักกสูตรและมงคลสูตร สามารถ แบ่งออกได้ ๒ นัยคือ  นัยทางบุคลาธิษฐาน และนัยทางธรรมาธิษฐาน ๑. นัยทางบุคลาธิษฐาน หมายถึงถิ่นที่สมควรที่จะดำรงชีวิตอยู่ สามารถสร้างความเจริญของชีวิตได้โดยง่าย โดยมีความสมบูรณ์ในเรื่องของบุคคลคือ มีคนดี มีผู้รู้ มีผู้มีความสามรถมีบัณฑิตนักปราชญ์ มีความสมบูรณ์ในเรื่องสภาพทางภูมิศาสตร์ประกอบกับมีสิ่งแวดล้อมที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพกายและใจ ส่วนนัยที่สองคือ ๒. นัยทางธรรมาธิษฐาน หมายถึง ถิ่นที่เหมาะสมสำหรับผู้ต้องการประพฤติปฏิบัติธรรม โดยมีผู้รู้ ผู้ทรงคุณธรรมอยู่มาก สถานที่แห่งนั้นเป็นเครื่องเกื้อหนุนให้บุคคลที่มีความต้องการที่จะบรรลุมรรคผลนิพพาน สามารถแสวงหาความเจริญในธรรมได้โดยง่าย และสามารถพัฒนาตนเองให้ไปสู่ความหลุดพ้นได้ด้วยการอยู่ประเทศที่สมควร ตามหลักพระพุทธศาสนาแล้ว แบ่งเป็น ๓ อย่าง คือ ๑. ถิ่นที่บริษัท ๔ คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา สัญจรไปมา ๒. สถานที่ตรัสรู้ สถานที่ทรงแสดงปฐมเทศนา สถานที่แสดงยมกปาฏิหาริย์ สถานที่เสด็จลงจากเทวโลก และสถานที่พุทธองค์ประทับอยู่ ๓. มัชฌิมประเทศ สถานที่ซึ่งเป็นที่อุบัติแห่งพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า พระมหาสาวกพุทธอุปัฏฐาก พระพุทธมารดา พระพุทธบิดา และพระเจ้าจักรพรรดิ

๓. ความเชื่อเรื่องฮวงจุ้ยในสังคมไทย เป็นการเสริมให้มีความขยันหมั่นเพียรทำสิ่งที่ดีให้กับครอบครัวและตัวเอง เสริมดวงชะตาให้ตัวเองมีความมั่นใจขึ้น คิดทำแต่สิ่งที่ดีให้กับตัวเอง ครอบครัว และคนรอบข้างด้วย เป็นการหาทำเลเพื่อทำธุรกิจ หาสิ่งที่เป็นมงคลให้กับตัวเองและครอบครัว ส่วนข้อเสียของฮวงจุ้ย คือการเสียค่าใช้จ่ายในการซื้ออุปกรณ์ในการเสริมดวงชะตา ข้อเสียบางอย่างเป็นความงมงายในสิ่งที่ไม่มี จะต้องใช้ทุนมากในการหาสิ่งเหล่านี้เพื่อเพิ่มสิ่งที่ขาดไป ความเชื่อเรื่องปฏิรูปเทสวาสเป็นการแสวงหาสถานที่ดี เป็นการเสริมดวงชะตากับเองเป็นอย่างมาก ได้อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี พบแต่สิ่งที่เป็นมงคลกับตัวเองทั้งบุคคล และวัตถุต่างๆ ทำให้สถานที่นั้นเจริญขึ้นทั้งภายในและภายนอก ทั้งเป็นกุศลผลบุญให้กับผู้ที่ได้พบเห็น ควรเสริมสร้างการทำบุญ ทำกุศล แสวงหาบัณฑิต เพื่อที่จะได้เกิดในสถานที่ดี หรือทำจิตใจให้สงบทั้งภายในและภายนอกและทำสิ่งดีให้กับสังคมไทย

ดาวน์โหลด

 

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕