บทคัดย่อ
การศึกษาวิจัยเรื่อง “ศึกษาความกตัญญูกตเวทีในประเพณีแห่เจ้าพ่อ-เจ้าแม่เทศกาลตรุษจีน ปากน้ำโพ จังหวัดนครสวรรค์” โดยมีวัตถุประสงค์ของการวิจัยดังนี้๑)เพื่อศึกษาความเชื่อและประเพณีของชาวจีน ๒) เพื่อศึกษาประเพณีแห่เจ้าพ่อ - เจ้าแม่เทศกาลตรุษจีนปากน้ำโพ จังหวัดนครสวรรค์ ๓) เพื่อศึกษาความกตัญญูกตเวทีในประเพณีแห่เจ้าพ่อ – เจ้าแม่เทศกาลตรุษจีน ปากน้ำโพ จังหวัดนครสวรรค์ โดยในการศึกษาครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) โดยศึกษาค้นคว้าเอกสาร (Documentary Study) และการสัมภาษณ์เชิงลึก (In depth Interview) กับผู้ให้ข้อมูลสำคัญ (Key Informant)
ผลการวิจัยพบว่า
๑.ชาวจีน มีถิ่นฐานอยู่ประเทศจีน เป็นชาติพันธุ์ที่มีประวัติศาสตร์สืบทอดต่อเนื่องยาวนาน ตั้งแต่ศตวรรษที่ ๒๑ ก่อนคริสตกาล หรือ ราว ๔ พันปีที่แล้ว ในปัจจุบันชาวจีนไปตั้งถิ่นฐานอยู่ตามภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก และมีชื่อเสียงในด้านความฉลาดและอดทน ในประเทศไทยมีคนจีนอพยพเข้าสู่ประเทศไทยตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเรื่อยมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น จังหวัดนครสวรรค์ซึ่งเป็นชุมชนการค้าที่มีชาวจีนอยู่เป็นจำนวนมาก ปรากฏเด่นชัดในสมัยรัชกาลที่ ๕ ชาวจีนทั้งที่อยู่ในประเทศจีนแผ่นดินใหญ่ และที่อพยพไปตั้งถิ่นฐานในประเทศต่างๆ รวมถึงประเทศไทย ได้นำความเชื่อและประเพณีอันเป็นอัตลักษณ์ของตนไปปฏิบัติอย่างเคร่งครัดและเป็นที่รู้จัก หนึ่งในประเพณีที่สำคัญของชาวจีนคือประเพณีตรุษจีน โดยแต่ละชุมชนของชาวจีนจะมีวิธีการเฉลิมฉลองที่เป็นอัตลักษณ์และยิ่งใหญ่
๒. จังหวัดนครสรรค์เริ่มมีการจัดงานแห่เจ้าพ่อ–เจ้าแม่เทศกาลตรุษจีน ปากน้ำโพ เกิดขึ้นหลังจากเกิดโรคอหิวาตกโรคเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๐–๒๔๖๒ ชาวปากน้ำโพได้รับความเดือนร้อนมีคนตายและเจ็บป่วยเป็นจำนวนมากด้วยเหตุว่าการแพทย์สมัยใหม่ยังไม่แพร่หลาย หมอไม่สามารถรักษาโรคให้หายได้ ชาวบ้านจึงไปพึ่งเทพเจ้าเพื่อขอให้ช่วยปัดโรคร้ายให้ โดยพิธีเข้าทรงและเขียนกระดาษยันต์ (ฮู้) เผาใส่น้ำดื่ม สามารถรักษาชาวบ้านจากโรคได้เป็นที่เลื่องลือถึงความศักดิ์ของเจ้าพ่อเทพารักษ์ ดังนั้นเมื่อถึงเทศกาลตรุษจีนชายไทยเชื้อสายจีนจึงอัญเชิญเจ้าพ่อเทพารักษ์มาแห่รอบตลาดเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิตและครอบครัว ตั้งแต่นั้นมา “งานประเพณีแห่เจ้าพ่อ – เจ้าแม่เทศกาลตรุษจีน ปากน้ำโพ” จึงเกิดขึ้น มีขบวนแห่ใหญ่โต กลายเป็นประเพณีสำคัญของจังหวัดนครสวรรค์ในปัจจุบันนี้
๓. ความกตัญญูกตเวทีในพระพุทธศาสนาเถรวาท หมายถึง กิริยาที่บุคคลผู้รู้อุปการะที่ผู้อื่นทำให้แล้วตอบแทนอุปการะคุณโดยจัดเป็น ๖ คู่ คือ ๑) บุตรทำการตอบแทนแก่มารดาบิดา ๒) ศิษย์ทำการตอบแทนแก่ครู อุปัชฌาย์ อาจารย์ ๓) พุทธศาสนิกชนทำการตอบแทนแก่สมณะพระสงฆ์ ๔) ภรรยาทำการตอบแทนแก่สามี ๕) มิตรทำการตอบแทนแก่มิตร และ ๖) บ่าวทำการตอบแทนแก่นายส่วนความกตัญญูกตเวทีในลัทธิขงจื๊อซึ่งเป็นความเชื่อดั้งเดิมของชาวจีน เน้นหนักไปที่การทำหน้าที่บุตรธิดาต่อบิดามารดา ด้วยการเลี้ยงดูเมื่อมีชีวิตอยู่และเซ่นไหว้เมื่อท่านล่วงลับไปแล้ว อีกทั้งยังหมายรวมถึงการเซ่นไหว้ฟ้า ดิน ตามจารีตส่วนความกตัญญูกตเวทีในพระเพณีแห่เจ้าพ่อ-เจ้าแม่เทศกาลตรุษจีน ปากน้ำโพจังหวัดนครสวรรค์ ได้มีการนำแนวคิดทางพระพุทธศาสนามาประยุกต์ใช้ เช่น การบูชาคุณความดีของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร หรือ เจ้าแม่กวนอิม ยกย่องพระสงฆ์คือพระถังซำจั๋ง และเจ้าพ่อ-เจ้าแม่ปากน้ำโพที่มีอุปการคุณช่วยเหลือให้รอดพ้นจากอวิวาตกโรคในอดีต มีการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับบรรพบุรุษผู้ล่วงลับไปแล้ว การตอบแทนคุณเพื่อนด้วยการต้อนรับเป็นการพิเศษ และการสำนึกในบุญคุณของธรรมชาติ เน้นการบวงสรวง วิงวอน ซึ่งเป็นนามธรรมที่เกิดจากใจแสดงออกมาในรูปของพิธีกรรม ที่สามารถส่งเสริมพฤติกรรมการแสดงออกเป็นรูปธรรม และสามารถนำไปใช้ในวีถีชีวิตได้จริง
ดาวน์โหลด
|