บทคัดย่อ
การวิจัยเรื่องหลักพุทธธรรมกับการส่งเสริมอัตลักษณ์ประเพณีสงกรานต์ของชุมชนเขาทอง อำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์ มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ ๑) เพื่อศึกษาการส่งเสริมอัตลักษณ์ประเพณีสงกรานต์ของชุมชนเขาทอง อำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์ ๒) เพื่อศึกษาหลักพุทธธรรมกับการส่งเสริมอัตลักษณ์ประเพณีสงกรานต์ของชุมชน และ ๓) เพื่อวิเคราะห์หลักพุทธธรรมกับการส่งเสริมอัตลักษณ์ประเพณีสงกรานต์ของชุมชนเขาทอง อำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์
งานวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ใช้การวิจัยเชิงเอกสาร (Documentary Research) โดยศึกษาค้นคว้าจากพระไตรปิฎก อรรถกถา เอกสาร ตำราวิชาการ และงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง และสัมภาษณ์ข้อมูลเชิงลึกกับผู้เกี่ยวข้องในชุมชนเขาทอง ทำการวิเคราะห์ข้อมูลด้วยการวิเคราะห์เชิงพรรณา
ผลการวิจัยพบว่า
การส่งเสริมอัตลักษณ์ชุมชน คือ การแสดงออกของกลุ่มชนที่มาอยู่ร่วมกันในบริบทของสังคมเดียวกัน จนเป็นการแสดงออกถึงความเป็นเป็นตัวตน หรือเป็นอัตลักษณ์เฉพาะถิ่นของชุมชนนั้น ๆ โดยการแสดงออก มี ๖ ทาง คือ ๑) ชาติพันธุ์ ๒) การแต่งกาย ๓) ความเชื่อถือ ๔) อาหารการกิน ๕) ภูมิปัญญาท้องถิ่น และ ๖) ประเพณี ชุมชนเขาทองเป็นชุมชนชาวมอญที่ มีการส่งเสริมอัตลักษณ์ชุมชนทั้ง ๖ ทาง แต่ที่เด่นชัดที่สุดคือการส่งเสริมอัตลักษณ์ทางประเพณีอันได้แก่ประเพณีสงกรานต์
หลักพุทธธรรมในการส่งเสริมอัตลักษณ์ประเพณีสงกรานต์ของชุมชน มี ๓ ระดับ คือ ๑) ระดับครอบครัว ใช้หลักศีลธรรมพื้นฐาน ๒) ระดับชุมชน คือ หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด ใช้หลักความกตัญญูกตเวทีและหลักสามัคคี และ ๓) ระดับประเทศ คือ สังคมขนาดใหญ่ ใช้หลักคารวตา และหลักสามัคคี
การส่งเสริมอัตลักษณ์ประเพณีสงกรานต์ของชุมชนเขาทอง อำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งเป็นชุมชนชาวไทยเชื้อสายมอญที่มีความเข้มแข็งและโดดเด่นในด้านประเพณีที่เด่นชัดที่สุด คือ ประเพณีสงกรานต์ พบหลักพุทธธรรมที่ปรากฏเด่นชัด คือ หลักคารวตาปรากฏอยู่ในการละเล่นจับข้อมือสาว หลักสาราณียธรรมปรากฏอยู่ในการรดน้ำดำหัวขอพรผู้สูงอายุ หลักกตัญญูกตเวทีปรากฏอยู่ในการทำบุญอุทิศให้กับปิยชน การสรงน้ำพระและรดน้ำดำหัวผู้สูงอายุ หลักสามัคคีปรากฏอยู่ในทุกกิจกรรมมาเป็นเวลานาน หากแต่ในปัจจุบันกระแสความเจริญทางด้านวัตถุและเทคโนโลยีกำลังเข้ามามีผลกระทบต่อการส่งเสริมอัตลักษณ์ชุมชนดังกล่าว และชุมชนกำลังต้องการการปกป้องอนุรักษ์สืบสานประเพณีอันงดงามอันเป็นอัตลักษณ์ชุมชนที่ทรงคุณค่าให้คงสืบทอดต่อไป
ดาวน์โหลด
|