บทคัดย่อ
วิทยานิพนธ์นี้ มีวัตถุประสงค์ ๓ ข้อ การวิเคราะห์รูปแบบและวิธีการเผยแผ่หลักธรรมของพระเทพสิทธิมงคล (เสนอ สิริปญฺโญ) มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ (๑) เพื่อศึกษารูปแบบและวิธีการเผยแผ่หลักธรรมในพระพุทธศาสนา (๒) เพื่อศึกษารูปแบบและวิธีการเผยแผ่หลักธรรมของพระเทพสิทธิมงคล (เสนอ สิริปญฺโญ) (๓) เพื่อวิเคราะห์รูปแบบและวิธีการเผยแผ่หลักธรรมของพระเทพสิทธิมงคล (เสนอ สิริปญฺโญ)
ผลจากการศึกษาวิจัยพบว่า วิธีการเผยแผ่หลักธรรมในพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าทรงใช้วิธีการเผยแผ่แบบประยุกต์เข้ากับสภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์ จารีตประเพณีในแต่ละท้องถิ่นที่มีความแตกต่างกันมากมาย เช่น พระพุทธเจ้าทรงใช้อุบายในการเลือกบุคคล รอจังหวะหรือโอกาส เป็นต้น เพื่อความสุขแก่สิ่งมีชีวิตทั้งหลาย เพื่อความสุขแก่คนเป็นอันมาก และอนุเคราะห์ต่อชาวโลกพระพุทธเจ้าทรงมีพระสงฆ์สาวกเป็นกำลังหลักในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา พระสงฆ์สาวกส่วนใหญ่เป็นผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ และยึดมั่นซึ่งคุณธรรมของผู้แสดงธรรม ดังนั้นจึงสามารถเผยแผ่พระพุทธศาสนาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้พระพุทธศาสนาอย่างแพร่หลายจนถึงยุคสมัยปัจจุบัน
หลักและวิธีการเผยแผ่ธรรมของพระเทพสิทธิมงคล (เสนอ สิริปญฺโญ) เป็นพระเถราจารย์ที่เป็นปูชนียสงฆ์แห่งคณะสงฆ์และประชาชนชาวจังหวัดระนอง มีคุณสมบัติครบถ้วนของความเป็นนักเผยแผ่หลักธรรม ใช้รูปแบบและแนวทางการสอนให้ประจักษ์ ปฏิบัติตนเป็นอย่างที่ดี แนะนำสั่งสอนให้ผู้อื่นมีความรู้คู่คุณธรรม ปฏิบัติหน้าที่ของพระสงฆ์ในการอนุเคราะห์ประชาชนไม่ให้ทำความชั่วให้ตั้งอยู่ในความดีอนุเคราะห์ด้วยน้ำใจอันดีงาม ได้สนองบทบาทกิจการคณะสงฆ์ทั้งการปกครอง การศาสนศึกษา การสาธารณูปการ การศึกษาสงเคราะห์ การสาธารณสงเคราะห์ การเผยแผ่พระพุทธศาสนาในลักษณะของการประยุกต์ให้สอดคล้องกับวิทยาการสมัยใหม่ นำเสนอแบบวิเคราะห์ในประเด็นต่าง ๆ เพื่อให้ผู้อ่านหรือผู้ฟังได้รู้ถึงหลักคำสอนของพระพุทธศาสนาในมุมมองที่แตกต่างกัน โดยใช้วิธีการแสดงพระธรรมเทศนา และการกล่าวสัมโมทนียกถาในลักษณะที่ทำให้เจ้าภาพที่มาทำบุญมีความสุข เพิ่มพูนปัญญาบารมี และให้กำลังใจต่อผู้ใต้บังคับบัญชาได้มีกำลังใจในการประกอบศาสนกิจที่สมบูรณ์ต่อไป
การวิเคราะห์รูปแบบและวิธีการเผยแผ่หลักธรรมของพระเทพสิทธิมงคล (เสนอ สิริปญฺโ) พบว่า ท่านมีรูปแบบและแนวทางในการนำเสนอหลักธรรมที่ทำให้ผู้ฟังมีความรู้ความเข้าใจ มีมุมมองและแง่คิดซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวันได้ นอกจากนี้ท่านยังได้ปฏิบัติตน ตามหลักคุณสมบัติของนักเผยแผ่ธรรมตามแนวทางแห่งพุทธเจ้า ที่เรียกว่า สัปปุริสธรรม ๗ ธรรมของสัตบุรุษ, คุณสมบัติของคนดี, ธรรมของผู้ดี ซึ่งได้แก่ การรู้จักเหตุ การรู้จักผล การรู้จักตน การรู้จักประมาณ การรู้จักกาล การรู้จักชุมชน และการรู้จักบุคคล ท่านได้ใช้การยกอุทาหรณ์การเล่านิทานประกอบ การเปรียบเทียบด้วยข้ออุปมาอุปมัย การใช้วิธียกตัวอย่างบุคคล การใช้วิธีการแทรกเรื่องทำให้มีอารมณ์ขัน และการใช้ภาษาง่าย ๆ เหมาะสมกับผู้ฟังมานำเสนอซึ่งเป็นรูปแบบและแนวทางที่ใช้จนกลายเป็นเอกลักษณ์ของท่านจึงเป็นการเผยแผ่หลักธรรมที่สอดคล้องกับพุทธวิธีในการสอนอย่างแท้จริง
ดาวน์โหลด
|