บทคัดย่อ
วิทยานิพนธ์เรื่อง “ศึกษาเรื่องเศษวิบากของกรรมในคัมภีร์พระพุทธศาสนา” มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการคือ (๑) เพื่อศึกษาเรื่องกรรมและการให้ผลของกรรมในคัมภีร์พระพุทธศาสนา
(๒) เพื่อศึกษาเรื่องเศษวิบากของกรรมในคัมภีร์พระพุทธศาสนา (๓) เพื่อศึกษาเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างกรรมและเศษวิบากของกรรมกับสังสารวัฏ การวิจัยเป็นแบบคุณภาพ คือการวิจัยเอกสาร ค้นคว้าเรียบเรียงจากคัมภีร์พระพุทธศาสนาและเอกสารอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
ผลการศึกษาวิจัยพบว่า:
กรรมคือเจตนาเป็นเครื่องกระทำ เป็นหลักธรรมสำคัญของพระพุทธศาสนา ผลของกรรมเรียกว่า วิบาก หากทำดีย่อมได้รับผลดี ทำชั่วย่อมได้รับผลชั่ว กรรมนั้นหากหมายถึงการกระทำก็ได้แก่ กรรมบถ ๑๐ ซึ่งมีทั้งฝ่ายกุศลและอกุศล หากหมายถึงวิบาก คือการให้ผลของกรรมก็ได้แก่ กรรม ๑๒ มีทิฏฐธรรมเวทนียกรรม คือกรรมให้ผลในปัจจุบันคือภพนี้เป็นต้น
กัมมวิปากาวเสส หมายถึง เศษของวิบาก คือผลของกรรมที่ตกค้างแก่อริยบุคคล แม้จะบรรลุอรหัตผลแล้ว จริงอยู่พระอรหันต์แม้จะได้ชื่อว่าผู้ละบุญและบาปได้แล้ว การกระทำถือว่าเป็นสักแต่กิริยา ไม่เป็นกรรม แต่เมื่อท่านยังอยู่ในภาวะของสอุปาทิเสสนิพพาน ก็ยังต้องเสวยผลของเศษวิบากกรรมในอดีตอยู่ ดังกรณีของพระมหาโมคคัลลานเถระ ถูกโจรฆ่าเป็นอาทิ อนึ่ง เมื่อว่าโดยกฎของกรรม ตราบใดที่บุคคลยังเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏอยู่ กรรมก็จะติดตามไปให้ผลในชาติภพนั้น ๆ จนกว่าจะสิ้นกรรม เป็นเครื่องตัดภพชาติอันเกิดจากอวิชชา ตัณหา มานะ ทิฏฐิ และอุปาทานในอัตตาเสียได้ ซึ่งเป็นการตัดสังสารวัฏไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป แม้กระนั่น ตราบใดที่ผู้บรรลุพระอรหันต์แล้วแต่ยังดำรงชีพอยู่ วิบากของกรรมก็ตามให้ผลอยู่ ต่อเมื่อเข้าถึงอนุปาทิเสสนิพพานแล้ว กรรมจึงจะยุติการให้ผล ดังนั้น กรรมและวิบากกรรมจึงสัมพันธ์กับสังสารวัฏดังนี้
ดาวน์โหลด
|