บทคัดย่อ
งานวิจัยนี้เป็นการศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลจากหนังสือและเอกสารที่เกี่ยวข้องดังมีวัตถุประสงค์ ๓ ข้อคือ ๑) เพื่อศึกษาวิธีปฏิบัติกัมมัฏฐานในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท ๒) เพื่อศึกษาวิธีปฏิบัติกัมมัฏฐานตามแนวสมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (สุก าณสํวโร) ๓) เพื่อศึกษาวิเคราะห์วิธีปฏิบัติกัมมัฏฐานของสมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช
(สุก าณสํวโร) โดยวิธีการวิจัยเชิงคุณภาพด้านเอกสาร ผลการวิจัยพบว่า
วิธีปฏิบัติกัมมัฏฐานในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท มีวิธีการปฏิบัติแบบลำดับเรื่องศีลสมาธิและปัญญา โดยเน้นให้สำรวมในศีล สำรวมในอินทรีย์ เพื่อไม่ให้บาปอกุศลธรรม คือ อภิชฌาและโทมนัสครอบงำได้ ให้รู้จักการบริโภคอาหารเพื่อความดำรงอยู่แห่งกายนี้ ให้ประกอบความเพียรชำระจิตให้บริสุทธิ์ ด้วยการจงกรมและการนั่งสมาธิ ฝึกสติด้วยความรู้สึกตัวในการก้าวเดิน ถอยกลับ และอิริยาบถต่างๆ หาที่สงบนั่งสมาธิ ชำระจิตให้บริสุทธิ์ ละนิวรณ์ ๕ สงัดจากกามและอกุศลทั้งหลาย เข้าปฐมฌานที่มีวิตก วิจาร ปีติ และสุข อันเกิดจากวิเวกอยู่ สิ่งเหล่านี้เป็นไปเพื่อความสุขในปัจจุบัน และเพื่อสติสัมปชัญญะ ในยุคพระพุทธเจ้าและยุคพระพุทธโฆสเถระได้เน้นวิธีปฏิบัติกัมมัฏฐานโดยมีสมถกัมมัฏฐานเป็นบาทฐานของวิปัสสนากัมมัฏฐาน
วิธีปฏิบัติกัมมัฏฐานที่สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (สุก าณสํวโร) ได้ทรงปฏิบัติ มีดังนี้ การปฏิบัติกัมมัฏฐานนั้นเริ่มแรกต้องมอบตัวต่อพระรัตนตรัย คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์และอาจารย์ผู้บอกพระกัมมัฏฐานโดยให้จัดเตรียม ดอกไม้ ๕ กระทง ข้าวตอก ๕ กระทง เทียน ๕ เล่ม ธูป ๕ ดอก ใส่ในถาดสี่เหลี่ยมผืนผ้า แล้วขอศีล ๕ ถ้าเป็นพระภิกษุปลงอาบัติ นำเทียนแพ ขอขมาพระรัตนตรัย กล่าวบทสวดมนต์ ทำวัตรขึ้นพระกัมมัฏฐาน แล้วอาราธนากัมมัฏฐานเพื่อเอายังพระลักษณะ พระขุททกาปีติธรรมเจ้า เวลานั่งให้ตั้งจิตไว้ที่ใต้สะดือ ๒ นิ้วมือ ภาวนาว่า พุทโธ นั่ง ๑๕ - ๒๐ นาที เสร็จแล้วสอบอารมณ์ ถ้าสอบอารมณ์ผ่านก็อาราธนากัมมัฏฐานเพื่อเอายังพระลักษณะ พระขณิกาปีติธรรมเจ้า จนครบพระปีติ ๕ แล้วเอายังพระรัศมี พระขุททกาปีติธรรมเจ้า แล้วสอบอารมณ์จนครบพระปีติ ๕ แล้วอาราธนาเอายังพระลักษณะพระรัศมี พระปีติ ๕ เพื่อทำเป็นอนุโลมและปฏิโลม แล้วนั่งเข้าสับพระปีติ ๕ เป็นอนุโลมและปฏิโลม แล้วนั่งเข้าคืบพระปีติ ๕ เป็นอนุโลมและปฏิโลม แล้วนั่งเข้าวัด ออกวัด เข้าสะกดปีติ ๕ เป็นอนุโลมและปฏิโลม แล้วสอบอารมณ์ตามลำดับ จบพระปีติ ๕ พระยุคลธรรม ๖ และพระสุขสมาธิ ๒ ก็ปฏิบัติตามแบบนี้เช่นกันจนครบแล้วจึงเปลี่ยนกัมมัฏฐานเป็นอานาปานสติ จะเป็นการฝึกกระทบ ของลมหายใจมีทั้งหมด ๙ จุด อาราธนานั่งทีละจุด เสร็จแล้วสอบอารมณ์ แล้วอาราธนานั่งกายคตาสติ กสิณ ๑๐ อสุภกัมมัฏฐาน ๑๐ องค์ฌาน แล้วสอบอารมณ์ตามลำดับจนครบ แล้วอาราธนานั่งอนุสสติ อัปปมัญญาพรหมวิหาร อาหาเรปฏิกูลสัญญา จตุธาตุววัฏฐาน อรูปฌาน แล้วสอบอารมณ์ตามลำดับเป็นสภาวะธรรมจบแล้วต่อด้วยวิปัสสนากัมมัฏฐาน อาราธนานั่งวิสุทธิ ๗ ประการ แล้วสอบอารมณ์เป็นสภาวะธรรม แล้วอาราธนานั่งทีละหัวข้อจนครบทุกข้อ แล้วสอบอารมณ์เป็นสภาวะธรรม จนถึงกัมมัฏฐานขั้นสุดท้าย เมตตาเจโตวิมุตติ ออกบัวบานพรหมวิหารเป็นการฝึกเมตตาขั้นสูงสุด เจริญเพื่อละพยาบาท เป็นหนทางสู่ มรรค ผล นิพพาน
ผลการวิจัยพบว่าวิธีปฏิบัติกัมมัฏฐานของสมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (สุก าณสํวโร) มีความสอดคล้องกับกัมมัฏฐานในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาทเพราะเป็นกัมมัฏฐานโบราณที่มีการสืบทอดจากพระราหุล โดยพระเจ้าอโศกมหาราชทรงส่งพระโสณะเถระ พระอุตตระเถระมาเผยแผ่พระพุทธศาสนาในยุคสุวรรณภูมิ ยุคทวาราวดี ยุคกรุงสุโขทัย ยุคกรุงศรีอยุธยา จนมาถึงยุคกรุงรัตนโกสินทร์ซึ่งมีสมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (สุก าณสํวโร) เป็นผู้สืบทอดกัมมัฏฐานมีการปฏิบัติสมถกัมมัฏฐานเป็นบาทฐานแล้วเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานเพื่อเป็นหนทางสู่ มรรค ผล นิพพาน
ดาวน์โหลด
|