หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ
 
เข้าชม : ๑๙๙๗๒ ครั้ง
การศึกษาการประยุกต์ใช้อุปายโกศลในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาทของพระสงฆ์ไทย
ชื่อผู้วิจัย : พระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ ข้อมูลวันที่ : ๐๙/๐๒/๒๐๑๗
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหากฤษณะ ตรุโณ
  พระมหาดนัยพัชร์ คมฺภีรปญฺโญ
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๕๕๙
 
บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

                 วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ (๑) เพื่อศึกษาหลักอุปายโกศลในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท (๒) เพื่อศึกษาการใช้อุปายโกศลในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท (๓) เพื่อศึกษาการประยุกต์ใช้อุปายโกศลของพระสงฆ์ไทย โดยเป็นการศึกษาเชิงเอกสาร

                 จากการศึกษาพบว่า คำว่า “อุปายโกศล” หมายถึงความฉลาดในอุบายที่ดี หรือการมีวิธีการที่จะแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นให้สำเร็จด้วยสติปัญญา โดยปรับให้เหมาะสมสอดคล้องกับสภาพปัญหา และอุปนิสัยของหมู่สัตว์ มีเป้าหมายเพื่อการพัฒนาคุณงามความดีและบรรลุถึงสิ่งที่ดีงามสูงสุดสำหรับชีวิต     อุปายโกศล มีที่มาจากปัจจัย ๒ ประการ คือ (๑) ปัญหา หรือความทุกข์ที่กระตุ้นให้เกิดการใช้ปัญญาที่เรียกว่าโยนิโสมนสิการ (๒) เนกขัมมะ คือ การแสวงหาทางหลุดพ้น ลักษณะการใช้อุปายโกศลในพระพุทธศาสนาเถรวาท มีอยู่ ๒ ระดับด้วยกันคือ (๑) ระดับโลกิยะ (๒) ระดับโลกุตตระ ผู้มีอุปายโกศลจำเป็นต้องมีคุณสมบัติที่ถึงพร้อมทั้งภายใน ได้แก่ ปัญญา มีความบริสุทธิ์ มีความกรุณา และภายนอกได้แก่ มีวาจาไม่มีโทษ มีอากัปกิริยามารยาทดีงาม

              อุปายโกศล มีความจำเป็นต่อการประกาศพุทธศาสนาในสมัยพุทธกาล เนื่องจาก ผู้ฟังธรรม มีสติปัญญาและอัธยาศัยที่แตกต่างกัน ยิ่งไปกว่านั้นสังคมในสมัยพุทธกาลมีความหลากหลายด้านความเชื่อ องค์ประกอบของอุปายโกศลที่สำคัญ คือ การสำรวจความพร้อมในด้านต่างๆ การเลือกวิธีการที่เหมาะสม การคำนึงถึงผลที่จะเกิดขึ้น และการลงมือปฏิบัติโดยการใช้รูปแบบของอุปายโกศลที่ได้เลือกแล้ว ส่วนรูปแบบการใช้อุปายโกศลตามที่ปรากฏในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา มีอยู่ ๖ ประการด้วยกัน คือ  (๑) การยกอุปมาอุปมัย (๒) การให้ความหมายของคำใหม่ในเชิงจริยธรรม (๓) การใช้อุปกรณ์ประกอบการสอนธรรม (๔) การรอจังหวะหรือการเลือกปฏิบัติรายบุคคล (๕) การทำเป็นตัวอย่าง (๖) การยืดหยุ่นในการใช้วิธีการ ส่วน จุดมุ่งหมายของการใช้อุปายโกศลในพระพุทธศาสนาเถรวาทเป็นไปเพื่อการพัฒนาชีวิตและสังคมของคณะสงฆ์รวมทั้งคฤหัสถ์ด้วย อีกทั้งยังเป็นการป้องกันการกล่าวโจมตีคำสอนจากบุคคลนอกศาสนาตลอดจนถึงการชักจูงบุคคลนอกศาสนาให้เกิดความศรัทธาเลื่อมใส

                 ในปัจจุบันพระสงฆ์ไทย คือ พระธรรมโกศาจารย์ (พุทธทาสภิกขุ) และ พระราชธรรมนิเทศ (พระพยอม กัลยาโณ) มีพัฒนาการประยุกต์ใช้อุปายโกศลเพื่อการเผยแผ่พุทธธรรม อันเนื่องมาจากความเปลี่ยนแปลงทางสังคมทั้งของคณะสงฆ์และคฤหัสถ์ รูปแบบการประยุกต์ใช้อุปายโกศลของพระสงฆ์ไทย    ที่โดดเด่นมีอยู่ ๓ วิธี คือ (๑) การทำให้ดูเป็นตัวอย่าง (๒) การใช้อุปกรณ์หรือสื่อประกอบการสอนธรรม (๓) การใช้คำคมและคำกลอน ส่วนจุดมุ่งหมายของการประยุกต์ใช้อุปายโกศลในปัจจุบันแตกต่างจากในสมัยพุทธกาล คือ ไม่ได้มุ่งเน้นในเรื่องของบรรลุธรรม และการเป็นพระอริยบุคคล แต่มุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาและพัฒนาในระดับของชาวบ้าน โดยพระธรรมโกศาจารย์ (พุทธทาสภิกขุ) เน้นการสั่งสอนในเชิงของนามธรรม โดยการทำความเข้าใจหลักพุทธธรรมที่ถูกต้องเท่านั้น แต่พระราชธรรมนิเทศ (พระพยอม        กัลยาโณ) มีบทบาทในการช่วยเหลือชาวบ้านด้านสาธารณะสงเคราะห์ เพื่อให้อุปายโกศลเกิดผลที่เป็นรูปธรรมในการพัฒนาสังคมของคฤหัสถ์ด้วย

ดาวน์โหลด

 

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕