บทคัดย่อ
วิทยานิพนธ์เรื่อง “การศึกษาบทบาทการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในต่างประเทศของ พระพรหมวชิรญาณ (ปสฤทธ์ เขมงฺกโร)” มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ (๑) เพื่อศึกษาหลักการและวิธีการเผยแผ่พระพุทธศาสนา (๒) เพื่อศึกษาบทบาทการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในต่างประเทศของพระพรหมวชิรญาณ (ปสฤทธ์ เขมงฺกโร) และ (๓) เพื่อศึกษาสภาพปัญหา อุปสรรคและแนวทางพัฒนากระบวนการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในต่างประเทศ รูปแบบการวิจัยเป็นการวิจัยเอกสารจากคัมภีร์พระพุทธศาสนา ผลงานวิชาการของผู้ทรงคุณวุฒิ รวมทั้งประวัติและผลงานของพระพรหมวชิรญาณ (ปสฤทธ์ เขมงฺกโร) ตลอดจนสัมภาษณ์ผู้เกี่ยวข้องอื่นๆ ทั้งในและต่างประเทศ
ผลการศึกษาวิจัยพบว่า
พระพรหมวชิรญาณ (ปสฤทธ์ เขมงฺกโร) ได้นำหลักการทางพระพุทธศาสนาไปประยุกต์ใช้กับการปฏิบัติงานในต่างประเทศ เป็นมาตรฐานหลักสำหรับปฏิบัติเพื่อมุ่งไปสู่ความสำเร็จ ตามกรอบ ๓ ดี คือ อดทนดี (อดกลั้น) สั่งสอน ๓ ดี และมาตรฐานคุณธรรมและจริยธรรมดี เนื่องจากการทำงานด้านการเผยแผ่ในต่างประเทศ ต้องมีความอดทน ความพร้อมในหลายด้านและมีมาตฐานความประพฤติที่ดีเยี่ยม จึงจะสามารถยึดศรัทธาของประชาชนไว้ได้ ด้วยความโดดเด่นดี ๕ ประการ คือ (๑) พูดดี ไม่ยกตน ยกศาสนาตนดีและว่าศาสนาอื่นเลว (๒) มีระเบียบวินัยดี (๓) เป็นคนเลี้ยงง่าย (๔) ใช้ชีวิตเรียบง่าย (๕) ขยันหมั่นเพียรทำงานอย่างไม่ย่อท้อ
ในการทำงานด้านการเผยแผ่ของพระพรหมวชิรญาณ (ปสฤทธ์ เขมงฺกโร) สะท้อนให้เห็นบทบาทในด้านคุณสมบัติของนักเผยแผ่และด้านคุณธรรมประจำตัว ๗ ประการ (๑) ศรัทธา (๒) มีเมตตาไม่เลือกที่รักมักที่ชัง (๓) มีความอดทน อดกลั้น (๔) มีภาวะของผู้นำที่ดีและขับเคลื่อนไปสู่ความสำเร็จ (๕) มีหลักสัปปุริสธรรม ๗ เป็นคุณธรรมในการทำงาน (๖) มีความประพฤติดีงาม และ (๗) มีความเชี่ยวชาญใน ๕ ด้าน ได้แก่ ด้านการบริหาร ด้านการศึกษา ด้านการเผยแผ่ ด้านสาธารณูปการ และด้านการสาธาณสงเคราะห์ในต่างประเทศ
บทบาทของพระพรหมวชิรญาณในด้านการบริหาร คือ การบริหารจัดการวัดตามนโยบายของคณะสงฆ์ไทย โดยหน้าที่เป็นผู้บริหารและปกครองสงฆ์ ได้จัดทำแผนการดำเนินการเผยแผ่พระพุทธศาสนา วางโครงการบริหารกิจการคณะสงฆ์และบริหารองค์กร เป็นประธานดำเนินงานโครงการสร้างวัด และอำนวยการในการจัดงานประชุม อบรมทางศาสนกิจและกิจกรรมส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม เป็นประธานเครือสมัชชาสงฆ์ไทยในสหรัฐอเมริกา รวมทั้งบริหารศาสนกิจด้านธรรมทูตสายต่างประเทศ
ปัญหาอุปสรรคมีสาเหตุมาจากปัจจัยต่าง ๆ คือ (๑) ด้านบุคลากรผู้มีหน้าที่เผยแผ่พุทธศาสนาที่ขาดความเชี่ยวชาญด้านคำสอนและวิธีปฏิบัติ (๒) ด้านการใช้ภาษาต่างประเทศโดยเฉพาะภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารธรรมะ (๓) ด้านการบริหารและการวางแผนงานเผยแผ่ (๔) ด้านการวิธีการสอนและการประยุกต์ใช้สื่อสมัยใหม่เพื่อการเผยแผ่ (๕) ด้านวิธีการเข้าถึงประชาชนชาวต่างชาติที่มีความแตกต่างทางภาษา ศาสนา วัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมประเพณี (๖) ขาดปัจจัยสนับสนุนการดำเนินงาน
ข้อเสนอแนวทางการพัฒนาการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในต่างประเทศประกอบด้วย
(๑) การสร้างศรัทธาความเชื่อมั่นแก่ประชาชน (๒) ความเข้าใจต่อกันในระหว่างศาสนาและข้อจำกัดที่แตกต่างกัน (๓) พัฒนาศักยภาพของทรัพยากรบุคคลทางพระพุทธศาสนา (๔) ส่งเสริมด้านภาษาต่างประเทศ และ(๕) ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนาและรักษามาตรฐานของความเป็นชาวพุทธที่ดี
ดาวน์โหลด
|