บทคัดย่อ
วิทยานิพนธ์นี้ มีจุดประสงค์ ๑) เพื่อศึกษาการทอดผ้าบังสุกุลในสมัยพุทธกาล ๒) การทอดผ้าป่าในสังคมไทย และ ๓) พัฒนาการของการทอดผ้าบังสุกุลในสังคมไทย เป็นการวิจัยเชิงเอกสาร
จากการศึกษาวิจัยพบว่า ผ้าบังสุกุล คือ ผ้าเปื้อนฝุ่นหรือผ้าอันบุคคลทิ้งไว้ในป่า เป็นผ้าที่พระพุทธเจ้าได้บัญญัติให้พระภิกษุสงฆ์นำมาตัดเย็บย้อมใช้เป็นเครื่องนุ่งห่ม ซึ่งมีจำนวน ๒๓ ชนิด ผ้าบังสุกุลมีปรากฏอยู่ในนิสัย ๔ ข้อที่ว่า บรรพชาอาศัยผ้าบังสุกุล กุลบุตรเมื่ออุปสมบทแล้วต้องถือเป็นเครื่องครองชีพ มีความสันโดษในผ้าที่ตนหาได้มา และผ้าบังสุกุลเป็นหนึ่งในธุดงควัตรในข้อที่ว่า ถือการนุ่งห่มผ้าบังสุกุลเป็นวัตร พระภิกษุสงฆ์พึงถือปฏิบัติเพื่อเป็นหนทางที่จะขัดเกลากิเลสที่อยู่ในสันดานจิตใจให้หมดไป
การทอดผ้าป่าในสังคมไทยมาจากการทอดผ้าบังสุกุลในสมัยพุทธกาล โดยได้รับการรื้อฟื้นขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๔ ด้วยพระประสงค์จะรักษาธรรมเนียมประเพณีทางศาสนาไว้ เริ่มแรกมักจะนำไปทอดทิ้งไว้ข้างศาลาวัด พระสงฆ์จะลงมาชักผ้าป่าไปใช้ บริวารของผ้าป่าก็จะเป็นเครื่องใช้จำเป็นต่อพระภิกษุสงฆ์ ซึ่งปัจจุบันการทอดผ้าป่าจะมีความนิยมจัดเป็นการประกอบพิธีกรรมทำบุญ มีการไหว้พระ สมาทานศีล ๕ กล่าวคำถวายผ้าป่า พระสงฆ์อนุโมทนากถาต่อคณะผ้าป่า โดยมีพิธีกรรมขึ้นมาเพื่อฝึกวินัยของคน อันเป็นหนทางนำตนเองเข้าสู่เนื้อหลักธรรมที่แท้จริงของพระพุทธศาสนา
การทอดผ้าบังสุกุลจากที่มีผ้าผืนเดียว ก็พัฒนาการมาเป็นการทอดผ้าบังสุกุล (ผ้าป่า) ที่มีเงินเป็นบริวารหลัก แล้วก็พัฒนาการจากการออกมาเป็นการทอดผ้าป่าหนังสือ ผ้าป่าที่ดินวัด ผ้าป่าเพื่อการกุศล ผ้าป่าทุนการศึกษา พัฒนาการกลายมาเป็นผ้าป่าช่วยชาติ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือผู้อื่นให้พ้นจากความทุกข์ มองเห็นถึงความเป็นจริงของโลก แล้วปฏิบัติตนให้หลุดพ้นจากความทุกข์เข้าสู่พระนิพพาน นี่คือความหมายที่แท้จริงของการทอดผ้าบังสุกุล (ผ้าป่า) ในสังคมไทย
ดาวน์โหลด
|