บทคัดย่อ
วิทยานิพนธ์นี้มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ ๑. เพื่อศึกษาแนวทางการปฏิบัติกัมมัฏฐานที่ปรากฏในพระพุทธศาสนา ๒. เพื่อศึกษาแนวทางการปฏิบัติกัมมัฏฐานของหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ๓. เพื่อวิเคราะห์แนวทางการปฏิบัติกัมมัฏฐานของหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ตามแนวทางพระพุทธศาสนา
งานวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ เน้นศึกษาค้นคว้าจากเอกสาร โดยสำรวจข้อมูลชั้นปฐมภูมิจากพระไตรปิฎก อรรถกถา สำรวจข้อมูลทุติยภูมิจากตำราวิชาการ เอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
จากการวิจัยพบว่า
๑. กัมมัฏฐานในทางพุทธศาสนา คือ การฝึกหัดจิตใจของตนเองให้เกิดความสงบ บริสุทธิ์ และพ้นจากความทุกข์ ประเด็นนี้ เป็นกิจกรรมสำคัญยิ่งในทางพระพุทธศาสนา การปฏิบัติกัมมัฏฐานตามหลักการทางพระพุทธศาสนาที่มีปรากฏในพระไตรปิฎกมี ๒ อย่างคือ สมถกัมมัฏฐานและวิปัสสนากัมมัฏฐาน.
๒. แนวทางการปฏิบัติวิปัสสนาของหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต เน้นการปฏิบัติจริง ไม่เน้นความเข้าใจในหลักปริยัติ หรือการศึกษาจากคัมภีร์ แต่เน้นการปฏิบัติที่สมบูรณ์ในไตรสิกขา เพื่อช่วยให้พระสงฆ์และฆราวาสบรรลุความเป็นอรหันต์ หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต เน้นการปฏิบัติในทาน ศีล ภาวนา เพื่อช่วยบุคคลทั้งหลายให้มีการดำเนินชีวิตอย่างปกติ ความจริงข้อนี้ มีเป้าหมายที่สำคัญของการปฏิบัติที่สอดคล้องกับแนวทางในพระไตรปิฎก
๓. แนวทางคำสอนในการปฏิบัติกัมมัฏฐาน ของหลวงปู่มั่นเน้นเรื่องการพิจารณากายหรือกายนุปัสสนาสติปัฎฐาน เริ่มจากมูลกัมมัฏฐานหรือกัมมัฏฐาน ๕ คือ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง การปฏิบัติดังกล่าวนี้สอดคล้องกับ หลักปฏิบัติเพื่อทำจิตให้บริสุทธิ์ในทางพระพุทธศาสนา นั่นคือการฝึกหัดจิตให้พิจารณากาย เมื่อพิจารณากายเห็นแจ้งประจักษ์ดังนี้ จิตของแต่ละบุคคลก็จะพ้นจากสมมติและอยู่ในวิมุตติ (ความหลุดพ้นจากความทุกข์)
ดาวน์โหลด
|