บทคัดย่อ
วิทยานิพนธ์ นี้ มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ เพื่อศึกษาความหมายของพระพุทธคุณ
บทโลกวิทูในคัมภีร์พระพุทธศาสนา เพื่อศึกษาประเภทแห่งโลกที่พระพุทธเจ้าทรงรู้แจ้ง และเพื่อศึกษาอิทธิพลพระพุทธคุณบทโลกวิทูที่มีต่อวรรณกรรมไทย
ผลการวิจัยพบว่า พระพุทธคุณบท โลกวิทู ในคัมภีร์พระพุทธศาสนา หมายถึง “ผู้รู้แจ้งโลก” คำว่า “ผู้รู้แจ้ง” คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงรู้แจ้งโลกทั้ง ๓ คือ ๑) สังขารโลก “โลก” คือ สังขาร ๒) สัตว์โลก “โลก” คือ หมู่สัตว์ ๓) โอกาสโลก “โลก” คือ แผ่นดิน
ประเภทของโลกที่พระพุทธเจ้าทรงรู้แจ้ง คือ ๑) สังขารโลก หมายถึง การปรุงแต่ง,
สิ่งที่ถูกปัจจัยปรุงแต่ง ในเรื่องไตรลักษณะ หมายถึง ร่างกาย ตัวตน ถูกปรุงแต่งขึ้นจากธาตุ ๔
มี ๒ ประการ คือ (๑) อุปาทินนกสังขาร = สังขารมีใจครอง (๒) อนุปาทินนกสังขาร = สังขารไม่มีใจครอง ๒) สัตวโลก หมายถึง ผู้ติดข้องอยู่ในขันธ์ ๕ ด้วยความพอใจรักใคร่ สัตว์ หมายถึง สิ่งมีชีวิต
มีความรู้สึกและเคลื่อนไหวได้ ซึ่งรวมถึงสิ่งที่มีชีวิต ที่มี ๒-๔ มากเท้า และไม่มีเท้าทั้งหมดนอกจากพืชและต้นไม้ คือ เทวดา มาร พรหม เป็นต้น ๓) โอกาสโลก หมายถึง โลกอันกำหนดด้วยโอกาส โลกอันมีในอวกาศ โลกซึ่งเป็นโอกาสแก่สัตว์ทั้งหลายที่จะอยู่อาศัย โลกคือแผ่นดินอันเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ทั้งหลาย, จักรวาล
อิทธิพลของพระพุทธคุณบทโลกวิทูที่มีต่อวรรณกรรมไทย มีดังนี้ คือ มีอิทธิพลต่อวรรณกรรมไทย เรื่อง “ไตรภูมิกถา หรือ ไตรภูมิพระร่วง” โดยมีอธิบายว่าพระพุทธองค์ ทรงรู้แจ้งโลก ต่อไปนี้ คือ โลกในความหมายของพระพุทธคุณบทโลกวิทู หมายถึง “โลก” (ภูมิ) ๓ ได้แก่ ๑. กามภูมิ (กามโลก) มี ๓ ประเภทใหญ่ คือ ๑) อบายภูมิ ๔, ๒) มนุสสภูมิ ๑, ๓) เทวดาภูมิ ๖ รวมเรียกว่า กามภูมิ ๑๑ ๒. รูปภูมิ (รูปโลก) มี ๑๖ ประเภท คือ ๑) ปฐมฌานภูมิ ๓, ๒) ทุติยฌาน-ภูมิ ๓, ๓) ตติยฌานภูมิ ๓, ๔) จตุตถฌานภูมิ ๗, รวมเรียกว่า รูปภูมิ ๑๖ ๓. อรูปภูมิ (อรูปโลก)
มี ๔ ประเภท คือ ๑. อากาสานัญจายตน เป็นต้น รวมทั้งหมดเป็น ๓๑ ภูมิ หรือเรียกว่า ไตรภูมิ
“โลก” ในวรรณกรรมไทย ว่าโดยความเป็นโลก สมัยอยุธยาที่ปรากฏในหนังสือมี ๓๕ เรื่องเช่น ๑) กาพย์มหาชาติ เป็นต้น สมัยธนบุรี ที่ปรากฏ ในหนังสือมี ๘ เรื่อง เช่น ๑) บทละครเรื่องรามเกียรติ์ เป็นต้น สมัยรัตนโกสินทร์ (หมวดศาสนจักร) มี ๓ เล่ม ได้แก่“คัมภีร์มหาวงศ์ พงศาวดารลังกา เป็นต้น ในสมัยปัจจุบัน ร้อยกรองไทยปัจจุบัน เรื่องบันเทิงคดี เป็นต้น เมื่อกล่าวโดยสรุป คือ (๑) “โลก” หมายถึง หมู่มนุษย์ (๒) “โลก” หมายถึง แผ่นดินที่เป็นที่อยู่อาศัย (๓) “โลก” หมายถึง สังขาร ได้แก่ ความเกิด-ความดับแห่งโลก คือ การปรุงแต่งทางอารมณ์ ๖ มี รูปารมณ์ สัททารมณ์ เป็นต้น (๔) “โลก” หมายถึง ความแตกสลาย ได้แก่ จักขุปสาท รูปารมณ์ จักขุวิญญาณ จักขุสัมผัส มีความแตกสลายเป็นธรรมดา แม้ความเสวยอารมณ์ที่เป็น สุข ทุกข์ หรือมิใช่สุข มิใช่ทุกข์ ที่เกิดขึ้นเพราะจักษุสัมผัสเป็นปัจจัยก็มีความแตกสลายเป็นธรรมดา เป็นต้นความหมายของโลกที่ปรากฏในวรรณกรรมไทยนี้ คือ โลกในอดีต ส่งผลถึงโลกปัจจุบัน และยังมีวรรณกรรมไทย อีกหลายเรื่องมีความหมายของคำว่า “โลก” ที่แตกต่างกันอยู่อีกมาก
ดาวน์โหลด
|