บทคัดย่อ
วิทยานิพนธ์เรื่อง ปราวฤตฺติในลังกาวตารสูตร มีวัตถุประสงค์คือ ๑)เพื่อศึกษาปราวฺฤตฺติในลังกาวตารสูตร ๒)เพื่อศึกษากระบวนการบรรลุธรรมของเซน ๓)เพื่อศึกษาความแตกต่างระหว่าง ปราวฺฤตฺติและการบรรลุธรรมของเซน ๔)เพื่อศึกษาแนวทางในการอธิบายสภาวธรรมของเซนภายใต้กรอบคิดของเถรวาท การวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ
จากการศึกษาวัตถุประสงค์ข้อที่ ๑ พบว่า ปราวฺฤตฺติในลังกาวตารสูตรนั้น เกิดขึ้นในภวังคจิตหรืออาลยวิชญาน เป็นการพลิกกลับเพื่อมุ่งสู่จิตเดิมแท้ ทั้งนี้ปราวฺฤตฺติมีความสอดคล้องกับความหมายของคำว่า อาลยสุมคฆาตและสมุจเฉทปหานในพุทธปรัชญาเถรวาท ซึ่งหมายถึงการรื้อถอนในระดับฐานรากหรืออนุสัย มุ่งเน้นการละทิ้งโดยการตัดขาด
วัตถุประสงค์ข้อที่ ๒ พบว่า กระบวนการบรรลุธรรมของเซน เป็นสภาวะแห่งการรู้แจ้งหรือตรัสรู้ เป็นการเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรมผ่านวิธีการทั้ง ๓ ของเซน คือ การนั่งสมาธิ, การขบคิดปริศนาธรรม,และการถามตอบอย่างฉับพลัน มีเป้าหมายคือการตรัสรู้เพื่อเข้าสู่จิตเดิมแท้ แต่ไม่ได้กล่าวถึงการกำจัดกิเลสแต่อย่างใด
วัตถุประสงค์ข้อที่ ๓ พบว่า ปราวฺฤตฺติ และการบรรลุธรรมของเซนมีความสอดคล้องกัน คือ ปราวฺฤตฺติ มีความหมายเพื่อพลิกกลับสู่จิตเดิมแท้เหมือนกับเซน แต่ไม่เน้นเรื่องการตัดกิเลส โดยยึดหลักสำคัญของมหายานคือแนวคิดโพธิสัตว์ที่จะอยู่เพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์เพื่อให้เข้าถึงนิพพานก่อนตนเอง
วัตถุประสงค์ข้อที่ ๔ พบว่าการอธิบายการบรรลุธรรมของเซนภายใต้กรอบคิดของเถรวาทนั้นอธิบายได้ด้วยแนวคิดเรื่อง ความรู้สึกตัว หรือ สมฺปชานการี
จากการศึกษาปราวฤตฺติในลังกาวตารสูตร ผู้วิจัยสนับสนุนแนวคิดที่ว่าปราวฺฤตฺติในลังกาวตารสูตรมีความสอดคล้องกับการรื้อถอนซึ่งอนุสัยเพื่อเข้าถึงนิพพาน และกับอาลยสมุคฆาตและสมุจเฉทปหาน ในพุทธปรัชญาเถรวาท เป้าหมายสู่นิพพานโดยการกำจัดกิเลสแบบตัดขาด
ดาวน์โหลด
|