บทคัดย่อ
วิทยานิพนธ์นี้ ได้ตั้งวัตถุประสงค์ของการศึกษาไว้ ๓ ประการคือ (๑) เพื่อศึกษาแนวคิดเรื่องสังคมนิยมในปรัชญาตะวันตก (๒) เพื่อศึกษาแนวคิดเรื่องสังคมนิยมในพุทธปรัชญาเถรวาท (๓) เพื่อวิเคราะห์แนวคิดเรื่องสังคมนิยมตามแนวพุทธปรัชญาเถรวาท เป็นการวิจัยเชิงเอกสาร
ผลการศึกษาพบว่า สังคมอุดมคติของเพลโตเกิดจากสภาพความวุ่นวายทางการเมืองในนคร เอเธนส์ ประกอบกับโสเครตีสผู้เป็นอาจารย์ของเขาถูกประหารชีวิตอย่างไม่เป็นธรรม ทำให้เพลโตมีความเชื่อมั่นว่าปัญหาของสังคมทั้งหมดเกิดจากผู้นำของรัฐขาดความยุติธรรม ดังนั้นสังคมอุดมคติของเพลโต จึงให้ความสำคัญกับบุคคลผู้ที่จะมาเป็นผู้นำรัฐ โดยเขาเชื่อว่าลักษณะผู้นำทางการเมืองที่ดีจะต้องเป็นผู้ที่มีทั้งความรู้และคุณธรรม ที่เรียกว่า ราชาปราชญ์ (king of philosopher) รูปแบบการปกครองที่ดีของ เพลโต คือ อภิชนาธิปไตย และแนวความคิดทางสังคมการเมืองของเพลโตอยู่ที่การแบ่งงานกันทำ ปัญหาสังคมการเมืองมาจากความคิดจินตนาการเกินความจริง ความเข้มแข็งทางการเมืองอยู่ที่การจัดตั้งองค์กรแบบมีส่วนร่วม อิทธิพลของมนุษย์ที่มีต่อการพัฒนาสังคมการเมืองก็คือการพัฒนาจิตและการจัดการศึกษาที่ดี ในส่วนของ คาร์ล มาร์กซ์ ซึ่งมีความเชื่อว่าประวัติศาสตร์ทางสังคมได้ทำการต่อสู้ขัดแย้งกันมาตลอด และความขัดแย้งดังกล่าวนั้นเกิดจากการแบ่งปันผลผลิตที่ไม่เป็นธรรม ระหว่างชนชั้นกรรมาชีพและชนชั้นนายทุน คาร์ล มาร์กซ์ ได้นำเสนอวิธีการแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยการปลูกจิตสำนึกให้ชนชั้นกรรมาชีพปฏิวัติรัฐระบบนายทุนด้วยความรุนแรงเด็ดขาด เพื่อทำการยกเลิกระบบชนชั้น ระบบกรรมสิทธิ์ และควบคุมปัจจัยการผลิตทั้งหมดให้เป็นของสังคมส่วนรวม เงื่อนไขของความยุติธรรมหรือความเสมอภาคเท่าเทียมของ คาร์ล มาร์กซ์ คือ พื้นฐานของการผลิตและการแบ่งปัน นั่นคือ เมื่อทุกคนเป็นผู้ใช้แรงงานก็ย่อมมีสิทธิ์ที่จะได้รับค่าตอบแทนที่เท่าเทียมกัน และเมื่อใดที่ผลผลิตมีมากเพียงพอที่ทุกคนจะมีโอกาสได้รับตามความต้องการ เมื่อนั้นสังคมใหม่ที่ปราศจากรัฐและชนชั้น ก็จะเกิดขึ้น
สังคมนิยมในพุทธปรัชญาเถรวาท เริ่มต้นจากพระพุทธเจ้าต้องการล้มเลิกระบบสังคมเดิมและสร้างระบบสังคมใหม่ในอินเดียสมัยพุทธกาล โดยวิธีการปฏิเสธระบบวรรณะในสังคมอินเดีย ที่สร้างความเหลื่อมล้ำทางสังคมอย่างชัดเจน โดยมีข้อสังเกตที่เด่นชัด คือ 1) การสร้างพระธรรมวินัยสงฆ์เพื่อเป็นทางเลือกในการปลดปล่อยตัวเองจากวรรณะต่ำทางสังคมที่ไม่อาจปฏิเสธได้ โดยหลักพระวินัยทั้งหมดจะเน้นความเสมอภาคในทุกด้านของสังคมสงฆ์ 2) การชี้นำมนุษย์ให้เข้าถึงสังคมแห่งพระศรีอริยเมตไตรยที่มนุษย์อยู่ได้อย่างสงบสุข ซึ่งทั้ง 2 ประเด็นดังกล่าวต่างก็เป็นสังคมมนุษย์ที่มีลักษณะการดำเนินชีวิตด้วยความเสมอภาคและเท่าเทียมกัน
พุทธทาสภิกขุเป็นนักคิดพุทธสมัยใหม่ที่ช่วยตีความเรื่องสังคมนิยมของพุทธศาสนา โดยเน้นแนวคิดทางสังคมที่วางพื้นฐานการดำเนินชีวิตตามหลักธรรมในพระพุทธศาสนาเป็นสำคัญ เป็นรูปแบบทางสังคมที่เรียกว่า “ธัมมิกสังคมนิยม” เป็นแนวคิดและหลักปฏิบัติส่วนใหญ่อิงคำสอนในพระไตรปิฏก โดยวางเป้าหมายในทางปฏิบัติออกเป็น 3 ส่วน คือ (1) การให้คุณค่าทางด้านจิตใจ ที่มุ่งเน้นการดำเนินชีวิตที่ประกอบไปด้วยธรรม (2) การให้คุณค่าด้านการปกครองที่มุ่งเน้นการใช้หลักหลักทศพิธราชธรรม (3) การจัดระบบเศรษฐกิจที่ถือประโยชน์เพื่อส่วนรวมสอดคล้องกับธรรมชาติ โดยใช้วิธีการแก้ไขปัญหาอย่างสันติภาพ ใน 2 ส่วนคือ คือ 1) การแก้ไขปัญหาในระดับปัจเจกบุคคล คือ เน้นคุณสมบัติด้าน การศึกษา สุขภาพอนามัย และทางจิตวิญญาณพร้อมทั้งความเป็นอยู่อย่างถูกต้อง 2) การแก้ไขปัญหาในระดับสังคมส่วนรวม เช่น ปัญหาทางสังคม ปัญหาทางการเมือง และปัญหาทางเศรษฐกิจ
ดาวน์โหลด
|