บทคัดย่อ
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์ ๓ ประเด็น คือ ๑) เพื่อวิเคราะห์พัฒนาการของมโนทัศน์ความพอเพียงในความเข้าใจของนักวิชาการ และปฎิทรรศน์ของเศรษฐกิจพอเพียง ๒) เพื่อวิเคราะห์มโนภาพความพอเพียงจากปรัชญาและศาสนา และ ๓) เพื่อตีความเชิงวิเคราะห์ในความหมายของมโนทัศน์ความพอเพียงจากเงื่อนไขที่จำเป็นและเพียงพอเพื่อยืนยันความมีอยู่ในเชิงสาเหตุและผล และในความจริงเชิงปรมัตถ์
ผลของการวิจัยพบว่าพัฒนาการมโนทัศน์ความพอเพียงในเศรษฐกิจพอเพียงนั้น มีมาตั้งแต่ยุคโบราณแล้ว ต่อมาความซับซ้อนของสังคมมนุษย์เพิ่มมากขึ้น ก่อเกิดการเอาเปรียบกันในสังคม ในประเทศไทยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระราชทานแนวทางแก้ปัญหาพื้นฐานด้วยมโนทัศน์ความพอเพียง แต่การรับรู้ของมนุษย์มีความแตกต่างกันทำให้เศรษฐกิจพอเพียงสามารถเป็นสิ่งที่มีคุณค่าภายนอก เป็นเครื่องมือไปสู่สิ่งที่มีคุณค่าอื่น ๆ เป็นอัตวิสัย และสามารถเป็นสิ่งที่มีคุณค่าภายใน ที่มีเป้าหมายในตัวเอง และเป็นภววิสัย ในขณะเดียวกันก็สามารถมองเศรษฐกิจพอเพียงได้ทั้งสองแบบพร้อม ๆ กัน และอาจเป็นแนวทางที่เหมาะสมที่สุดเพื่อป้องกันการเกิดปฎิทรรศน์ของเศรษฐกิจพอเพียง
สำหรับการวิเคราะห์มโนภาพความพอเพียงจากปรัชญาและศาสนา พบว่ามโนภาพความพอเพียงจากปรัชญามีแนวโน้มเป็นมโนภาพที่มีคุณค่าภายนอก สามารถเป็นเครื่องมือไปสู่สิ่งที่มีคุณค่าอื่น ๆ และเป็นอัตวิสัยของแต่ละบุคคล ในขณะที่มโนภาพความพอเพียงจากศาสนามีลักษณะเป็นสิ่งที่มีคุณค่าภายใน ที่มีเป้าหมายในตัวเอง และเป็นภววิสัย การวิจัยยังพบอีกว่า ทั้งมโนภาพของความพอเพียงที่เป็นคุณค่าภายนอกและภายในเป็นปฎิทรรศน์ของเศรษฐกิจพอเพียง
จากการพิสูจน์การมีอยู่เชิงความสัมพันธ์ของมโนทัศน์ความพอเพียงด้วยตรรกวิทยาสัญลักษณ์พบว่ามโนทัศน์ความพอเพียงมีอยู่ในรูปแบบของเงื่อนไขที่จำเป็นในรูปแบบสัมพันธ์กันเชิงสาเหตุและผล ในขณะที่มโนทัศน์ความพอเพียงที่มีอยู่ในรูปแบบของเงื่อนไขที่พอเพียงจะมีความสัมพันธ์ในเชิงตรรกะหรือเชิงปรมัตถ์
ดาวน์โหลด
|