บทคัดย่อ
วิทยานิพนธ์นี้ชื่อ วิพากษ์มโนทัศน์เรื่องปรัชญาความไร้เหตุผลของกามูส์ มีวัตถุประสงค์ ๑) เพื่อศึกษามโนทัศน์เรื่องความไร้เหตุผลของกามูส์ ๒) เพื่อศึกษามโนทัศน์เรื่องความไร้เหตุผลใน จริยศาสตร์ของกามูส์ ๓) เพื่อศึกษามโนทัศน์ทางพุทธจริยศาสตร์ ๔) วิเคราะห์และวิพากษ์มโนทัศน์เรื่องความไร้เหตุผลในจริยศาสตร์ของกามูส์ตามนัยแห่งพุทธจริยศาสตร์ การวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ
จากการศึกษา วัตถุประสงค์ข้อที่ ๑ พบว่า ความไร้เหตุผลของกามูส์หมายถึง การเผชิญหน้าระหว่างความสงสัยของมนุษย์ที่ต้องการจะหาคำตอบกับโลกที่นิ่งเงียบ ความไร้เหตุผลของชีวิตเกิดขึ้นจากปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับโลกภายนอก เป็นผลมาจากความขัดแย้งระหว่างความเชื่อมั่นของมนุษย์ในเหตุผลกับความไร้เหตุผลของโลกภายนอก ในทัศนะของกามูส์สรุปลักษณะธรรมชาติของมนุษย์ว่าประกอบด้วยความรู้สึกหลายประการ คือความกระวนกระวาย ความรู้สึกผิด ความต้องการความหมายในชีวิต และอิสรภาพ มนุษย์ต้องการความสำเร็จในชีวิต ความมีชื่อเสียง และมีความหวาดกลัวต่อความตาย แต่กระนั้น กามูส์ได้ให้กำลังใจว่ามนุษย์ไม่ควรสิ้นหวังหรือพ่ายแพ้ต่อชีวิต ตรงกันข้ามมนุษย์ควรตั้งความหวังและหาเหตุผลให้กับการที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไป ยืนหยัดต่อสู้เพื่อสิ่งที่ตนเห็นว่าถูกต้อง และรักษาเสรีภาพส่วนบุคคลไม่ให้ถูกแย่งชิงไปโดยหมู่คณะใด หรือยอมอยู่ใต้กฎเกณฑ์ของสังคมอย่างไร้เหตุผล วัตถุประสงค์ข้อที่ ๒ พบว่ามโนทัศน์เรื่องความไร้เหตุผลใน จริยศาสตร์ของกามูส์ เกิดจากการขบถต่อมโนทัศน์ทางจริยศาสตร์ดั้งเดิมของสังคม ที่พยายามกำหนดเป้าหมายของชีวิตไว้อย่างตายตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งตามความเชื่อทางศาสนาคริสต์ และบรรทัดฐานทางสังคม จุดมุ่งหมายในชีวิตมนุษย์คือความสุขที่มาจากเสรีภาพ มนุษย์มีเสรีภาพในการตัดสินใจ กามูส์ไม่สนใจเรื่องที่ถกเถียงในทางอภิปรัชญาว่าแท้จริงแล้วมนุษย์มีเจตจำนงเสรีหรือไม่ หากแต่เขาต้องการจะนำเสนอว่ามนุษย์ควรใช้เสรีภาพเพื่อการดำรงอยู่ชีวิตอยู่ต่อไปอย่างมีความสุข ผลจากการศึกษามโนทัศน์เรื่องเสรีภาพของกามูส์เป็นแนวคิดแบบนิยัตินิยมอย่างอ่อน กามูส์เชื่อว่าไม่มีกฎเกณฑ์ใดที่แน่นอนตายตัว แม้ว่าเราจะได้รับอิทธิพลหรือถูกบีบบังคับจากปัจจัยต่างๆ แต่มนุษย์เป็นผู้ใช้เสรีภาพ และต้องตัดสินใจด้วยตัวเอง วัตถุประสงค์ข้อที่ ๓ สาระสำคัญของพุทธจริยศาสตร์ คือ การไม่ทำความชั่วทั้งปวง การทำกุศลคือความดีให้พรั่งพร้อม การทำจิตของตนให้ผ่องแผ้ว จุดมุ่งหมายสูงสุดของชีวิตตามนัยแห่งพุทธจริยศาสตร์ก็คือ การพัฒนาตัวเองให้มีความสุขตั้งแต่ขั้นต่ำสุดถึงขั้นสูงสุด คือ นิพพาน วัตถุประสงค์ข้อที่ ๔ มโนทัศน์เรื่องความไร้เหตุผลในจริยศาสตร์ของกามูส์ตามนัยแห่งพุทธจริยศาสตร์ เรื่องความสุขซึ่งเป็นความสุขจากภายในตนเอง เมื่อมนุษย์ตระหนักถึงความไร้เหตุผล มนุษย์ก็จะสามารถสร้างความหมายให้แก่ชีวิตของตัวเอง มนุษย์มีเสรีภาพในการตัดสินใจเลือกและต้องรับผิดชอบต่อการกระทำนั้น ตามนัยแห่งพุทธจริยศาสตร์กล่าวว่าเป็นกฎแห่งกรรม มนุษย์เป็นผลของการกระทำของตน มนุษย์จะต้องรับผลจากสิ่งที่ตนได้ทำไว้ สิ่งที่ทำให้มนุษย์ให้ความหมายแก่โลก ซึ่งในที่สุดนำความทุกข์มาให้นั้นคือ “ตัณหา” สำหรับมโนทัศน์ของกามูส์นั้น มนุษย์ต้องยอมรับสภาพความเป็นจริงของสภาวะและการดำรงอยู่ของมนุษย์แต่ละคน และใช้เสรีภาพสร้างตนเองขึ้นมาบนโลกที่ไร้ความหมาย
จากการวิพากษ์เรื่องมโนทัศน์เรื่องปรัชญาความไร้เหตุผลของกามูส์ ผู้วิจัยขอสนับสนุนแนวคิดของกามูส์ว่ามนุษย์มีเสรีภาพในการตัดสินใจเลือกและต้องรับผิดชอบต่อการตัดสินใจนั้น มนุษย์สามารถให้ความหมายแก่ชีวิตตัวเองและมีความสุขอยู่กับสิ่งที่ตนเองตัดสินใจแล้ว
ดาวน์โหลด
|