หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » สุรินทร์ ตุลย์วัฒนจิต
 
เข้าชม : ๑๙๙๖๘ ครั้ง
สงครามที่เป็นธรรมในทรรศนะจริยศาสตร์ศาสนา
ชื่อผู้วิจัย : สุรินทร์ ตุลย์วัฒนจิต ข้อมูลวันที่ : ๐๘/๐๒/๒๐๑๗
ปริญญา : พุทธศาสตรดุษฎีบัญฑิต(ปรัชญา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหากฤษณะ ตรุโณ
  แสวง นิลนามะ
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๕๕๘
 
บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

 

                 งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ ๑. เพื่อวิเคราะห์แนวคิดการทำสงครามที่เป็นธรรมในทรรศนะจริยศาสตร์คริสเตียน ๒. เพื่อวิเคราะห์แนวคิดการทำสงครามที่เป็นธรรมในทรรศนะพุทธจริยศาสตร์เถรวาท และ ๓. เพื่อสังเคราะห์แนวคิดการทำสงครามที่เป็นธรรมในทรรศนะจริยศาสตร์ศาสนา โดยเป็นการวิจัยเชิงคุณภาพจากเอกสาร ผลการวิจัยพบว่า

                 ผลตามวัตถุประสงค์ประการที่ ๑ พบว่า จากการประมวลคำสั่งสอนในพระคัมภีร์จะพบว่า บรรดาคำสั่งสอนทั้งหลายมีทั้งแบบเคร่งครัด แนะนำ และเห็นต่างกันได้ สำหรับ การฆ่า นับเป็นจริยศาสตร์ระดับเคร่งครัดที่ห้ามเด็ดขาด แต่กระนั้นบางเหตุการณ์ของการฆ่า เช่น การฆ่าในสงครามที่เป็นธรรมเพื่อปกป้องผู้บริสุทธิ์ก็ยังสามารถตีความในระดับเห็นต่างกันได้อีกด้วย    การตัดสินความถูกผิดในเรื่องนี้จำเป็นต้องถือตามกฎศีลธรรมสัมบูรณ์ที่มีระดับชั้น (Graded Absolutism) ซึ่งถือว่า ๑) ความดีความชั่วที่เป็นกฎศีลธรรมสัมบูรณ์ ๒) แต่ขณะเดียวกันโลกนี้ก็เป็นโลกที่มีความชั่ว บางครั้งเราจำเป็นต้องมีการทำชั่วที่น้อยกว่าเพื่อไม่ให้เกิดความชั่วที่ยิ่งกว่า ๓) พระเจ้าทรงกำหนดให้ความดีมีหลายระดับ ดังนั้น เมื่อนำการทำสงครามที่เป็นธรรมมาอธิบายด้วยกฎศีลธรรมสัมบูรณ์ จะพบว่า การทำสงครามเป็นการรักษาความดีและความยุติธรรมของสังคมส่วนรวม ทำให้การทำสงครามเพื่อความดีที่สูงกว่า (Greater Good) เพื่อได้รับการยอมรับ เพื่อไม่ก่อให้เกิดความเสียหายที่รุนแรงกว่านั้น เช่น การสูญเสียชีวิตของผู้บริสุทธิ์ หรือการเสียเอกราชให้ศัตรู เป็นต้น

 

                 ผลตามวัตถุประสงค์ประการที่ ๒ พบว่า พุทธศาสนาเถรวาทไม่ได้สนับสนุนการทำสงคราม เนื่องจากศาสนากับรัฐแยกขาดจากกัน แต่กระนั้นก็ไม่ได้ปฏิเสธ หากพิจารณาตามหลักพุทธจริยศาสตร์เถรวาท จะพบว่า การทำสงครามเป็นสิ่งที่ผิด เพราะก่อให้เกิดการฆ่า ซึ่งถือว่าผิด ศีล ๕ ข้อ ๑ ปาณาติบาต , กุศลกรรมบถ ๑๐ ด้านกายกรรม ว่าด้วยเรื่องอย่าเบียดเบียนร่างกายของผู้อื่น และมรรคมีองค์ ๘ เรื่อง สัมมากัมมันตะ แต่อย่างไรก็ตาม ก็สามารถอธิบายได้ในอีกมุมมองหนึ่ง นั่นก็คือ ความชอบธรรมในการทำสงคราม โดยพิจารณาจากเจตนาและความจำเป็นตามหน้าที่ เจตนาต้องไม่เป็นอกุศล และต้องทำตามหน้าที่ ไม่ใช่ทำเพราะโกรธแค้นส่วนตัว มองในแง่หนึ่ง พุทธจริยศาสตร์ย้ำว่าข่มคนที่ควรข่ม ยกย่องคนที่ควรยกย่อง ผู้ทำเช่นใด ย่อมได้รับผลเช่นนั้น

                 ผลตามวัตถุประสงค์ประการที่ ๓ พบว่า จากการสังเคราะห์แนวคิดสงครามที่เป็นธรรมบนพื้นฐานจริยศาสตร์ศาสนา สรุปออกมาเป็น ๗ แนวคิด ซึ่งเป็นแนวคิดเดิม ๓ ข้อ และบูรณาการใหม่ ๔ ข้อ ได้แก่

                        ๑) ไม่สามารถประกาศทำสงครามได้ แม้จะได้ข่าวว่า ตนเองกำลังจะถูกคุกคาม จะทำได้ก็ต่อเมื่อมีการคุกคามเป็นรูปแบบที่ชัดเจนจริงๆ

                        ๒) ในกรณีที่ผู้บังคับบัญชามีคำสั่งให้ทำการสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ขัดต่อกฎการทำสงครามบนพื้นฐานจริยศาสตร์ศาสนา ให้ผู้ปฏิบัติหน้าที่เคารพในหลักจริยศาสตร์มากกว่าคำสั่งของผู้บังคับบัญชา

                        ๓) ต้องมีเจตนาที่จะป้องกันอย่างบริสุทธิ์ใจ เพื่อหวังป้องกัน และขับไล่ศัตรู มิใช่เพื่อชัยชนะหรือยึดครอง

                        ๔) หากต้องมีการฆ่าในสงคราม ต้องเป็น การฆ่าตามหน้าที่ห้ามฆ่าเพราะเจตนาส่วนตัว

                        ๕) กระทำได้เพียงการป้องกัน และขับไล่ ไม่สามารถยึดครองสมบัติ อธิปไตย หรือประชาชนของอีกฝ่ายหนึ่งมาเป็นของตนได้

                        ๖) การทำสงครามเป็นหน้าที่ของทหาร ไม่ใช่ของประชาชนทั่วไป เนื่องจากประชาชนทั่วไปอาจทำเพราะความโกรธแค้น

                        ๗) มีการประกาศระดับการทำสงครามรวมทั้งมาตรการที่กำลังจะกระทำเพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทราบ

ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕