บทคัดย่อ
งานวิจัยนี้ใช้ระเบียบวิธีวิจัยผสมผสานระหว่างวิจัยเชิงคุณภาพและวิจัยเชิงปริมาณ มีวัตถุประสงค์การวิจัย คือ (๑) เพื่อศึกษาแนวคิดการจาริกแสวงบุญตามหลักศาสนาและการพัฒนาพฤติกรรมเชิงจริยธรรมในพุทธศาสนาและศาสตร์สมัยใหม่ (๒) เพื่อศึกษากระบวนการพัฒนาพฤติกรรมเชิงจริยธรรมของผู้จาริกแสวงบุญ ณ สังเวชนียสถาน ๔ ตำบล ประเทศอินเดีย-เนปาล (๓) เพื่อเสนอรูปแบบการพัฒนาพฤติกรรมเชิงจริยธรรมของชาวพุทธ กลุ่มผู้ให้ข้อมูลหลักแบ่งเป็น ๓ กลุ่ม คือ กลุ่มที่ ๑ ได้แก่ ผู้จาริกแสวงบุญกลุ่มทดลอง จำนวน ๔๐ ท่าน กลุ่มที่ ๒ ได้แก่ ผู้ให้ข้อมูลหลักในการสัมภาษณ์เชิงลึก ประกอบด้วย ผู้เชี่ยวชาญด้านพฤติกรรมศาสตร์ ๓ ท่าน วิทยากรนำจาริก แสวงบุญ ๓ ท่าน ผู้มีประสบการณ์จาริกแสวงบุญ ๓ ท่าน และผู้จาริกแสวงบุญจากกลุ่มทดลอง ๑๐ ท่าน กลุ่มที่ ๓ ได้แก่ผู้เชี่ยวชาญที่ร่วมการสนทนากลุ่ม จำนวน ๗ ท่าน ผลการศึกษา พบว่า
๑. การจาริกแสวงบุญตามหลักศาสนากับการพัฒนาพฤติกรรมเชิงจริยธรรม
การจาริกแสวงบุญมีจุดเริ่มต้นจากการที่ศาสนิกชนมีศรัทธาเลื่อมใสในศาสนา จึงมีความปรารถนาจะแสดงออกซึ่งความระลึกถึงในพระคุณของพระศาสดาด้วยการเดินทางไปสู่สถานที่ศักดิ์สิทธิ์อันเป็นสัญลักษณ์หรือตัวแทนของพระองค์ สถานที่ศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้เป็นจุดมุ่งหมายร่วมอันมีบรรยากาศที่มีอิทธิพลต่อความรู้สึกภายใน ตอกย้ำให้บุคคลมีศรัทธาหนักแน่นตั้งมั่น ส่งผลให้บุคคลยินยอมพร้อมใจที่จะปฏิบัติตามหลักคำสอน ปราศจากข้อสงสัยในการกระทำดีตามหลักศาสนา ของตน ช่วยพัฒนาพฤติกรรมเชิงจริยธรรมให้คนตั้งมั่นประพฤติในสิ่งดียิ่งขึ้นในการดำรงชีวิตต่อไป
๒. กระบวนการพัฒนาพฤติกรรมเชิงจริยธรรมของผู้จาริกแสวงบุญ
กระบวนการคือลำดับขั้นและวิธีการในการพัฒนาพฤติกรรมเชิงจริยธรรมของผู้จาริกแสวงบุญโดยอาศัยกระบวนการเรียนรู้ที่ได้จาก (๑) การทำกิจกรรมขณะจาริกแสวงบุญ ณ สังเวชนียสถาน ๔ ตำบล ประเทศอินเดีย-เนปาล ซึ่งแบ่งออกเป็นกิจกรรมภาคปริยัติ เช่นการฟังวิทยากรบรรยาย และกิจกรรมภาคปฏิบัติ เช่น การสวดมนต์ เจริญภาวนา การถวายเครื่องสักการะบูชา (๒) ประสบการณ์จากการได้สัมผัสบรรยากาศของ สังเวชนียสถาน ๔ และสิ่งแวดล้อมในประเทศอินเดีย-เนปาล
เมื่อทำการเปรียบเทียบพฤติกรรมเชิงจริยธรรมของผู้จาริกแสวงบุญตามหลักสถิติ พบว่า ๒.๑ ผู้จาริกแสวงบุญคณะที่เน้นการปฏิบัติบูชามีพฤติกรรมเชิงจริยธรรมหลังการจาริกแสวงบุญแตกต่างจากก่อนการจาริกแสวงบุญอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ .๐๕
๒.๒ ผู้จาริกแสวงบุญคณะที่เน้นสักการะนมัสการมีพฤติกรรมเชิงจริยธรรมหลังการจาริกแสวงบุญแตกต่างจากก่อนการจาริกแสวงบุญอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ
๒.๓ ผู้จาริกแสวงบุญคณะที่เน้นการปฏิบัติบูชามีพฤติกรรมเชิงจริยธรรมหลังการจาริกแสวงบุญสูงกว่าคณะที่เน้นสักการะนมัสการอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ .๐๕
๓. รูปแบบการพัฒนาพฤติกรรมเชิงจริยธรรมของพุทธศาสนิกชน
รูปแบบการพัฒนาพฤติกรรมเชิงจริยธรรมของพุทธศาสนิกชน ตามโมเดลซิปปา (CIPPA Model) มีปัจจัยนำเข้า คือ ปัจจัยภายใน (Construct) และปัจจัยภายนอก (Interaction) ของตัวผู้จาริกแสวงบุญ ปัจจัยภายนอกหรือปรโตโฆสะ เช่น วิทยากร สถานที่ ที่ดี ย่อมเสริมสร้างให้บุคคลเกิดศรัทธาต่อหลักธรรมคำสอนของศาสนา ซึ่งกระตุ้นต่อปัจจัยภายใน คือโยนิโสมนสิการ ช่วยให้บุคคลพิจารณาเกิดสัมมาทิฏฐิ ส่วนการขับเคลื่อนกระบวนการเรียนรู้เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมนั้นคือ กิจกรรมตามศาสนพิธี ที่พุทธศาสนิกชนต้องร่วมปฏิบัติเอง (Physical Participation) และดำเนินไปอย่างสอดคล้องกับหลักบุญกิริยาวัตถุ หลักไตรสิกขา หรืออริยมรรค ๘ โดยสามารถวัดการพัฒนาพฤติกรรมเชิงจริยธรรมได้ตามหลักภาวนา ๔ ซึ่งแบ่งเป็นด้าน กาย ศีล จิต ปัญญา (Process Learning) เมื่อบุคคลตรวจสอบตนเองใน ๔ ด้านและเรียนรู้พัฒนาพฤติกรรมได้ถูกต้องตรงทางย่อมเป็นประโยชน์อย่างยิ่งทั้งแก่ตนเองและผู้อื่นในสังคม (Application)
ดาวน์โหลด
|